29 มิถุนายน 2549

 

คนไทยแห่แทงพนันบอลโลกผ่าน “เน็ต” ตร.เผยวางเงินสูงสุด 10 ล.

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 มิถุนายน 2549 15:08 น.


เผยฟุตบอลโลกทำยอดพนันผ่านเน็ตในไทยพุ่งร้อยละ 50 โดยเว็บพนันเล็งกลุ่มวัยรุ่นเป็นลูกค้าและพบผู้หญิงเล่นเพิ่ม ขณะที่ตำรวจยอมรับตามจับยากเพราะหาพยานหลักฐานยาก ตั้งแต่ 9-27 มิ.ย.ได้เพียงรายเดียว ส่วนใหญ่ยังนิยมแทงผ่านโต๊ะพนันบอล ด้าน สสส. รวมเว็บพนันลงปลาวาฬบราวเซอร์ ให้พ่อ-แม่ โหลดลงคอมพิวเตอร์สกัดเด็กเป็นเหยื่อ

ในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกอย่างนี้ เราคงต้องยอมรับความจริงกันว่า ตัวเลข “การพนันฟุตบอล” นั้น เพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะมีวงเงินไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

และล่าสุดก็มีตัวเลขที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อยว่า วงเงินสำหรับการพนันฟุตบอลผ่าน”อินเทอร์เน็ต” นั้นสูงเป็นอย่างยิ่ง

นายปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ให้ข้อมูลว่า มูลค่าตลาดของการพนันทางอินเทอร์เน็ตสูง เฉพาะที่สหรัฐสูงถึง 480 ล้านบาทต่อปี และมีเว็บไซต์การพนันกว่า 2,300 แห่งทั่วโลก ที่น่าตกใจคือในช่วง 1-2 ปีนี้ มีผู้หญิงสนใจเล่นการพนันออนไลน์เพิ่มสูงถึงร้อยละ 32 ขณะที่เด็กและเยาวชน กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของเว็บไซต์การพนันกว่า 100 แห่ง เพราะหลายประเทศที่เปิดสถานพนันได้อย่างถูกกฎหมาย แต่จำกัดอายุของผู้เล่น เช่น ต้องเกิน 20 ปี แต่การเล่นพนันผ่านเว็บไซต์ไม่จำกัดอายุ สามารถเล่นได้ในบ้านที่เป็นที่ส่วนตัวได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมี 30 เว็บไซต์ ที่อนุญาตให้เด็กอายุ 16 ปีสมัครเข้าใช้บริการได้

สำหรับประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทพนันยักษ์ใหญ่ พยายามเข้ามาซื้อพื้นที่เว็บไซต์ในไทย เพื่อโฆษณาเว็บพนันของตนเอง แต่ถูกสกัดกั้น ส่วนเว็บไซต์พนันบอลในไทย มักแฝงมาในรูปของการให้ข้อมูลกีฬา วิเคราะห์คู่บอล ซึ่งในช่วงฟุตบอลโลกนี้ ส่งผลให้การพนันบอลผ่านทางอินเทอร์เน็ตในไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จึงขอเตือนว่าในไทยการพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้ที่หลงเข้าไปพนันบอลผ่านอินเทอร์เน็ต แม้จะเล่นชนะแต่มีจำนวนมากที่ถูกเบี้ยวไม่จ่ายเงิน โดยผู้เล่นไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลย

อีกสิ่งที่น่าห่วงขณะนี้ คือการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ ด้วยการโอนเงินเข้าบริษัทเงินอิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ เพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้า ซึ่งตรวจสอบต่อได้ยาก ว่านำไปทำอะไร จึงมีการนำไปใช้พนันบอลกันมาก โดยธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

ด้าน พ.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ในฐานะหัวหน้าชุดปราบปรามการพนันบอลทางอินเทอร์เน็ต หน่วยนครบาล กล่าวว่า การจับกุมผู้เล่นการพนันบอลทางอินเทอร์เน็ตค่อนข้างยาก เพราะหาพยานหลักฐานยาก แต่ตำรวจก็มีวิธีที่จะดำเนินการ โดยตั้งแต่วันที่ 9-27 มิถุนายน ที่ผ่านมา จับกุมได้แล้ว 1 รายใหญ่ เป็นการรับแทงพนันบอลทางเว็บไซต์หนึ่ง โดยผู้ถูกจับกุมเป็นเอเย่นต์รายย่อย มีเงินหมุนเวียนเป็นร้อยล้านบาท และกำลังขยายผลต่อไปยังเจ้ามือ โดยจะมีการบูรณาการกฎหมายทุกฉบับมาใช้กับเจ้ามือ ทั้งมาตรการทางภาษีและขั้นเด็ดขาดคือยึดทรัพย์ ส่วนผู้เล่นก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน แม้ว่ามีโทษเพียงปรับจะไม่มากแต่ขอเตือนนักพนันทั้งหลายว่า การเล่นพนันเหมือนการลงโทษตนเอง คนเล่นทุกคนไม่มีใครรวย เกือบทั้งหมดจะเลิกเล่นเมื่อหมดตัวแล้ว นี่คือข้อเท็จจริงของโลกการพนัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 9-27 มิถุนายน สามารถดำเนินคดีผู้ต้องหาการพนัน แล้ว 577 คดี 618 คน วงเงินในโพย กว่า 197 ล้านบาท

“การแทงพนันบอลที่พบส่วนใหญ่ยังเป็นวิธีเดิม คือจะแทงกับเจ้ามือ ทางโทรศัพท์ หรือโต๊ะรับแทง ตามชุมชนหรือสถานศึกษา แต่ระบบใหม่คือทางอินเทอร์เน็ต ที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านก็สามารถแทงได้ ค่อนข้างมาแรง และมีความถี่สูงในการแทงมากกว่า โดยในช่วงเวลาที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขัน 30 นาที สูงถึง 6,000-7,000 ราย เพราะราคาต่อรองจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยวงเงินแทงกันต่ำสุด 5,000 บาทสูงสุด 10 ล้านบาท แต่ยังไม่ค่อยพบเยาวชน นักเรียน นักศึกษามากนัก ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานและมีความรู้เข้ามาแทง ทางตำรวจก็พยายามจับตาตั้งแต่ต้นตอเว็บไซต์ในต่างประเทศจนมาถึงเมืองไทย เป็น 100 ราย แต่ผลการจับกุมไม่มากนัก เพราะสามารถย้ายเปลี่ยนชื่อเว็บไปได้เรื่อย ๆ และจะไม่หยุดเฉพาะช่วงฟุตบอลโลก เพราะบอลพรีเมียร์ลีก ก็มีหลายคู่และวงเงินสูง” พ.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว

ขณะที่นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้จัดการแผนงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า วิธีป้องกันไม่ให้เล่นพนันผ่านทางอินเทอร์เน็ตในหลายประเทศ คือ สกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านี้ ซึ่งโครงการ “ปลาวาฬบราวเซอร์” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้เพิ่มเว็บไซต์การพนันที่ได้รับความนิยมมาใส่ไว้ในโปรแกรม ป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึง โดยผู้ปกครองสามารถเข้าไปที่ www.plawan.com เพื่อดาวน์โหลดทูลบาร์ ไปติดตั้งไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์บุตรหลาน ทั้งยังป้องกันเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ ได้ด้วย และจะประสานไปยังสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ เพื่อตรวจสอบรายการที่คาดว่าจะใช้โอนเงินที่เกิดจากการพนัน

“นอกจากนี้ เว็บไซต์ www.thaihealth.or.th ได้จัดกิจกรรม “คุณถูกผีพนันเข้าสิงหรือไม่” ด้วยแบบสอบถาม 20 ข้อ เพื่อให้นักพนัน หรือผู้ที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพนัน เขียนมาสารภาพประเด็นคำถาม ในแง่มุมต่าง ๆ เช่น คุณเคยเล่นการพนันจนต้องเสียอะไรในชีวิตไปบ้าง ประสบการณ์ครอบครัวแตกแยกจากการพนันคุณเลิกติดการพนันได้อย่างไร เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่คิดจะเล่นการพนันและเป็นแนวทางในการเลิกเล่นการพนันอีกด้วย”นายสุนิตย์กล่าว



28 มิถุนายน 2549

 

ICT เร่งสร้างภูมิคุ้มกันภัยร้ายบนเน็ต DSI ระบุปัญหาเริ่มขยายตัวพุ่งสูง


ICTเร่งสร้างภูมิคุ้มกันภัยร้ายบนเน็ต DSIระบุปัญหาเริ่มขยายตัวพุ่งสูง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 มิถุนายน 2549 09:25 น.


กระทรวงไอซีทีเร่งสานต่อป้องกันภัยร้ายบนโลกไซเบอร์ วอนสังคมช่วยสอดส่องมากกว่ารัฐทุ่มเทฝ่ายเดียว ดีเอสไอ ระบุไทยปัญหายังน้อยเมื่อเทียบต่างชาติ แต่อัตราเริ่มพุ่งสูงขึ้นชี้ผู้ปกครองเป็นจุดสำคัญการป้องกันปัญหาในกลุ่มเยาวชน

เมื่อวานนี้(27 มิถุนายน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) จัดสัมมนา “ภัยทางอินเทอร์เน็ตและการสื่อสาร : ภัยร้ายสายพันธุ์ใหม่ในสังคมไทย” ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการการอบรม/สัมมนาเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ ICT ครั้งที่ 4 โดยระดมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมบรรยายและอภิปรายสะท้อนสถานการณ์และสภาพความรุนแรงของปัญหา โดยมุ่งหวังให้ทุกส่วนในสังคมร่วมกันสอดส่องดูแล และหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาภายใต้ข้อเสนอแนะของผู้ดูแลและบังคับใช้กฎหมาย

นางมณีรัตน์ ผลิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า การจัดสัมนาขึ้นครั้งนี้ กระทรวงไอซีที ต้องการขยายมุมมองและสะท้อนปัญหาของการใช้งานไอซีที ในรูปแบบที่ผิดจากมุมมองผู้ที่เกี่ยวข้องไปยังกลุ่มผู้ปกครอง โดยต้องการมุ่งให้เยาวชนและประชาชนใช้งานอินเทอร์เนตอย่างเชิงสร้างสรรค์ และใช้พัฒนาทักษะในด้านความรู้ การสร้างประโยชน์ มากกว่าการใช้งานในทางที่ผิด อีกทั้งกระทรวงไอซีทีต้องการให้สังคมต้องร่วมกันสอดส่องดูแล และช่วยกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวอย่างมีระบบ ทั้งในกลุ่มผู้ปกครอง เยาวชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้อเสนอแนะของผู้ดูแลและบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนผู้มีประสบการณ์ในการใช้และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบอาชญากรรมผ่านทางการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางคอมพิวเตอร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เช่น แชตรูม อีเมล์ เกมออนไลน์ และไอเอ็ม ภัยทางโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายรูปภาพหรือถ่ายวิดีโอที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือการให้บริการพูดคุยปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์ผ่านหมายเลข 1900 ตลอดจนภัยทางอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ โดยการส่งผ่านข้อมูลอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย

“อาชญากรที่มีความซับซ้อนกว่านั้นใช้ความชาญฉลาดของตนแทรกเข้าไปสู่ข้อมูลที่บันทึกหรือติดตั้งอยู่ของผู้อื่นเพื่อทำลาย หรือเอาไป หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นภัยอันร้ายแรงหากเป็นข้อมูลความลับทางด้านความมั่นคงของประเทศ หรือธุรกิจการค้าของเอกชน”

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนได้มีการใช้งานไอซีทีแบบผิดวัตถุประสงค์ มีการนำไปใช้งานมากกว่าด้านการศึกษา และเริ่มมีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานจากส่วนบุคคล ไปยังการเผยแพร่ รวมถึงการเข้าไปข้องเกี่ยวกับอบายมุข เว็บไซต์ลามกอนาจาร การโพสข้อความที่รุนแรงพาดพิงบุคคลที่สาม โดยที่ไม่ทราบถึงผลเสียหรือการละเมิดต่อกฎหมายจากสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป จากที่ติดตาม และจากข้อมูลในแหล่งอื่น ประเทศไทยมีเว็บไป๊ และบริการเกี่ยวกับเรื่องเซ็กถึงแสนเว็บ ส่วนทั่วโลกมีถึง4 ถึง5 ล้านเว็บไซต์ จากเว็บที่มีเนื้อหาที่ดีกว่า 8 พันล้านเว็บไซต์ ขณะเดียวกันเรื่องของการใช้งานอินเทอร์เนตยังมีปริมาณการใช้งาน คนไทยมีการใช้เพียง 4-5% เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น เกาหลี มีการใช้งานอินเทอร์เนต ถึง 60% ของสัดส่วนประชาการทั้งหมด จึงทำให้ปัญหาในเรื่องการใช้งานเมื่อเทียบแล้วยังดูน้อยมากแต่อัตราการเติบโตเริ่มพุ่งสูงขึ้น

สำหรับการแก้ไขปัญหาในแง่การใช้งานของเยาวชนและการป้องกันในไทย ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและเอาใจใส่บุตรหลานมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่มอบหมายให้หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา เป็นผู้ดูแลและให้ความรู้ เพราะผู้ปกครองสามารถที่จะพูดคุย ตรวจสอบและป้องกันปัญหาในการใช้งานอินเทอร์เน็ต มือถือ ได้มากกว่าผู้อื่น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ปกครองได้ขาดความเอาใจใส่ จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวเป็นที่ลุกลาม จนเด็กเยาวชน ไม่สามารถแยกแยะ หรือเข้าใจปัญหาได้ดี

“ผู้ปกครองเป็นคนสำคัญที่สุดในการป้องกันปัญหา หากละเลยแล้วก็ไม่มีใครที่ช่วยได้ เพราะผู้ปกครองนั้นใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด สามารถที่จะพูดคุย สอบถามได้ ไม่ใช่โยนให้หน่วยงานรัฐ ครูอาจารย์ มาเป็นผู้ดูแลตรวจสอบ แต่ถึงอย่างไรทุกฝ่ายก็จะต้องร่วมแรงร่วมใจ ในการให้ความรู้ ข้อแนะนำ ปัญหาก็จะลดลงนำไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น”

นายศรีศักดิ์ จามรมาน นายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมอินเทอร์เน็ตนานาชาติ สาขาประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มของภัยอินเทอร์เน็ตในปี 2549 โดยอ้างถึงรายงานสรุปของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส “เทรนด์ไมโคร” (Trend Micro Inc.) ที่ได้ทำการสำรวจภาวะภัยร้ายคุกคามบนอินเทอร์เน็ตในปี 2548 รวมถึงภัยในอนาคตอีกมากมาย พบว่าในปีที่ผ่านมาถือเป็น “ปีแห่งเกรย์แวร์” เนื่องจากครองสัดส่วนของของภัยคุกคาม 15 อันดับแรกสูงสุดถึง 65% ที่มีรายงานแจ้งความเสียหายทางอีเมล์มากถึง 11 ล้านฉบับ โดยภัยการโจรกรรมข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมีมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 81% ขณะที่การลวงด้วยที่อยู่ทางอินเทอร์เน็ตลดลงเหลือ 13% ในช่วงปลายปี 2548 เมื่อเทียบกับต้นปี 2549 ที่มีจำนวนมากถึง 76%

ส่วนแนวโน้มภัยคุกคามปี 2549 เทรนด์ไมโครคาดว่า “สปาย-ฟิชชิ่ง” (Spy-phishing) จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “สเปียร์-ฟิชชิ่ง (Spear-phishing) จะก่อผลกระทบกับองค์กรธุรกิจต่างๆ สแปมจะมาในรูปภาษาท้องถิ่นมากขึ้น มัลแวร์จะมาในรูปของการเข้ารหัสและแบ่งย่อยตัวเองมากขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับโปรแกรมสนทนาออนไลน์จะยังคงเป็นช่องทางแพร่ไวรัสอยู่ รวมถึงระบบปฏิบัติการวินโดว์สยังพบข้อด้อยที่ไวรัสคอมพิวเตอร์ยังสามารถเข้าทำลายระบบได้

สำหรับภัยทางอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเยาวชน สตรี และประชาชนในประเทศส่วนมากได้แก่ การพนันบนอินเทอร์เน็ต เว็บลามก การล่อลวงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะที่เป็นหญิงสาวผ่านการใช้แชตรูม อีเมล์ เกมออนไลน์ ไอเอ็ม หรือแม้แต่การให้บริการข้อมูลด้วยเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือ (Audiotex) หรือ หมายเลข 1900 ที่มีทั้งสายคลายเหงา คุยเสียว และหลากหลายข้อความที่ส่อไปทางยั่วยุกามารมณ์ เหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางให้เกิดอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

“การรู้ให้เท่าทันอันตรายจากภัยอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารจึงเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเป็นปัญหาทางสังคมที่ลุกลามและรุนแรงต่อไปในอนาคต” นายศรีศักดิ์กล่าว

Company Related Link:
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)

www.saijai.net โทร.0-2886-9991
ที่มาข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์ 28 มิถุนายน 2549 09:25 น
รูปประกอบจาก http://www.dsi.go.th/dsi/index.jsp

07 มิถุนายน 2549

 

เซ็งโจ๋ไทยติดเกมเล่น 5 ชม./วัน - โจ๋อเมริกาทำงานเพื่อสังคม 3.5 ชม./สัปดาห์

เซ็งโจ๋ไทยติดเกมเล่น 5 ชม./วัน - โจ๋อเมริกาทำงานเพื่อสังคม 3.5 ชม./สัปดาห์

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 มิถุนายน 2549 17:01 น.


วิจัยพบโจ๋ไทยหมกมุ่นเล่นเกมเกือบ 5 ชม.ต่อวัน แถมดูทีวี 19 ชม.ต่อสัปดาห์ ขณะที่วัยรุ่นมะกันใช้เวลาว่างแห่ทำงานอาสาอาสมัคร คิดเป็นเงินเกือบแสนล้านบาทต่อปี สสส.-เครือข่ายจิตอาสา เร่งชวนเยาวชนอาสาทำดีถวายในหลวง รับลายแทงทำดีพร้อมพาสปอร์ต บันทึกความดีไว้ภาคภูมิใจ

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการศึกษาปัญหาวัยรุ่นยุคใหม่ ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พบวัยรุ่นไทยใช้ชีวิตในภาวะเสี่ยง เด็กอายุ 7-21 ปี ในกรุงเทพฯและปริมณฑล หมกมุ่นกับการเล่มเกมคอมพิวเตอร์ เฉลี่ย 4.5 ชม.ต่อวัน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,114 บาทต่อเดือน ใช้เวลาเดินไม่ถึง 10 นาที ก็เจอร้านเล่นเกมที่อยู่ใกล้บ้านเฉลี่ย 5 ร้าน และหมดเวลาไปกับการดูโทรทัศน์ 19 ชม.ต่อสัปดาห์ มีวัยรุ่นไทยเพียง 4.97% เท่านั้น ที่ทำกิจกรรมร่วมกับสังคม ในฐานะอาสาสมัคร

“ขณะที่วัยรุ่นในสหรัฐฯ 59.3% หรือ 13.3 ล้านคน ใช้เวลา 3.5 ชม.ต่อสัปดาห์ ร่วมเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคม ซึ่งหากคิดเป็นวงเงิน เท่ากับว่า วัยรุ่นสหรัฐฯ ทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคมได้สูงถึง 7.7 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 96,000 ล้านบาทต่อปี แต่เด็กไทยกลับหมดเวลาไปกับเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ดังนั้น สสส.จึงจัดโครงการตามรอยพระยุคลบาท “60 ปี 60 ล้านความดี เริ่มที่เยาวชน” เพื่อจุดกระแสให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชน และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทำความดี ร่วมกับเครือข่ายจิตอาสา ในโครงการอาสาเพื่อในหลวง” ทพ.กฤษดา กล่าว

นายวินย์ เมฆไตรภพ เครือข่ายจิตอาสา กล่าวว่า ขอเชิญชวนประชาชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ทำความดีเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโครงการ “อาสาเพื่อในหลวง” ตอน แรลลี่ทำดี เล็กๆ น้อยๆ ด้วยการเดินทางทำความดีตาม “ลายแทงทำดี” ที่รวบรวมกิจกรรม 60 ต้นแบบความดี ในสถานที่กว่า 77 แห่ง อาทิ การช่วยเด็กๆ ด้วยการจัดงานวันเกิดร่วมกับเด็กกำพร้า หรือการบริจาคความรู้ผ่านเว็บไซต์ th.wikipedia.org รวมทั้งร่วมวาดการ์ดทำความดีถวายในหลวง ณ สวนรถไฟ ปลูกปะการังสร้างชีวิตสู่ท้องทะเล ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของอ่าวไทย

“ในลายแทงทำดี จะบอกข้อมูลโดยละเอียด พร้อมแผนที่ในการเดินทางไปทำดีได้ง่ายๆ ด้วยตัวของคุณเอง โดยสามารถติดต่อขอรับลายแทงทำดี พร้อมกับพาสปอร์ตทำดี ที่สามารถบันทึกการทำดีของตัวคุณเอง เพื่อเก็บไว้เป็นความภาคภูมิใจ ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ร่วมทำดีเพื่อถวายในหลวงของเรา หรือจะเขียนจดหมายเล่าการทำดี 6 อย่าง เพื่อขอรับเข็มกลัดอาสาเพื่อในหลวง ที่จัดทำเป็นพิเศษ และมีจำนวนจำกัด ซึ่งขอรับลายแทงทำดี พาสปอร์ตทำดี รวมถึงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2938-2636 หรือเข้าไปที่ www.thaihealth.or.th, www.v4king.in.th” นายวินย์ กล่าว

 

เตือนเด็กบ้าเกมคอมพ์ ไม่มีเพื่อน-เป็นโรคอ้วน

โคเบลนซ์-เด็กติดเกมคอมพิวเตอร์อาจทำให้ไม่มีเพื่อน แถมยังเป็นโรคอ้วน แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรม


หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยน ฉบับวันอาทิตย์ (4 มิ.ย.) รายงานอ้างความเห็นผู้เชี่ยวชาญที่ออกโรงเตือนว่าเด็กที่หมกมุ่นอยู่กับเกมคอมพิวเตอร์มากจนเกินไปจะเป็นคนไม่มีเพื่อน และเป็นโรคอ้วนได้เพราะแทบจะไม่ยอมออกจากห้อง และไม่เคลื่อนไหว ทั้งยังเตือนผู้ปกครองให้สังเกตสัญญาณบอกเหตุ อาทิ เด็กจะไม่สนใจงานอดิเรก ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน และไม่รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์
นายปีเตอร์ กรอสค์ ผู้จัดการใหญ่สมาคมให้ความช่วยเหลือของศาสนาคริสต์อีแวนเจลิค ซึ่งเป็นสายหนึ่งในนิกายโปรเตสแตนต์ ประจำเมืองเมคเคลนเบิร์ก ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า เกมคอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์อาจกลายเป็นสิ่งเสพติด และทำให้มีผลด้านลบติดตามมา อาทิ ผลการเรียนตกต่ำลง เด็กไม่พยายามที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และไม่สนใจกับอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม นายกรอสค์ กล่าวว่า ค่อนข้างยากที่จะตัดสินว่าเล่นเกมคอมพิวเตอร์กี่ชั่วโมงถึงจะเรียกว่าเป็นอันตราย แต่ให้สังเกตดูง่ายๆ ว่าถ้าเด็กไม่ทำสิ่งอื่นๆ เลย ก็เรียกได้ว่าเป็นการติดคอมพิวเตอร์แล้ว ด้าน นายมาร์ติน โซเบล นักจิตบำบัดจากเมืองโคเบลนซ์ กล่าวว่า เด็กติดเกมคอมพิวเตอร์มักจะมีสาเหตุมาจากปัญหาครอบครัว อาทิ ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากพ่อแม่ที่แยกทางกัน หรือไม่ได้รับการดูแลที่ดีเพียงพอ รวมทั้งพ่อแม่อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูกๆ คือ ติดเกมคอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์เสียเอง


ที่มา
เรียบเรียง : Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูล : คม ชัด ลึก
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th