18 เมษายน 2551

 

ตะลึงชาวเว็บแห่โพสต์เรื่องกามวิปริต

โพสต์ทูเดย์ — อาจารย์มหิดลเผยนักท่องเน็ตแห่โพสต์-อ่านเรื่องลามกวิปริต พบเว็บเดียวมีกว่า 2 แสนเรื่อง

นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อ การพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการจัดเวทีประเมินสถานการณ์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสังคมไทย พบว่าเว็บไซต์เผยแพร่เรื่องลามกและเขียนบรรยายการมีเพศสัมพันธ์เป็นอีกเว็บหนึ่งที่ได้รับความนิยมเข้าไปชมจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเว็บไซต์เผยแพร่และเปิดให้มีการเข้ามาโพสต์เรื่องลามกแห่งหนึ่ง พบว่า มีการแบ่งกลุ่มเรื่องลามกตามเพศสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ซึ่งบางกลุ่มเป็นเรื่องวิปริตที่สังคมไม่ให้การ ยอมรับ เช่น เซ็กซ์กับสัตว์ เซ็กซ์แบบข่มขืน เซ็กซ์กับครอบครัวเดียวกัน เซ็กซ์แบบทาส โดยพบว่าในเว็บดังกล่าวมีเรื่องลามกมากกว่า 2 แสนเรื่อง

นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการอ่านเรื่องต้องสมัครสมาชิกในอัตราตั้งแต่ 375-1,395 บาท เพื่อแลกสิทธิเข้าชมตั้งแต่ 1-6 เดือน รวมทั้งยังเปิดให้ซื้อสิทธิเข้าอ่านเรื่องผ่านการ ส่งเอสเอ็มเอสในอัตราเรื่องละ 50 บาท รวมทั้งโฆษณาเชิญชวนให้ ผู้เข้าชมเขียนเล่าเรื่องเพศสัมพันธ์ของตัวเอง เพื่อแลกกับสิทธิสมาชิกเป็นเวลา 1 เดือน

ด้าน ผศ.อรรยา สิงห์สงบ คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า เว็บไซต์ที่เผย แพร่เรื่องเล่าลามก น่าจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเป็นการเผยแพร่เรื่องลามกอนาจารบน อินเทอร์เน็ตที่ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีได้ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ผู้สร้างเนื้อหาเผยแพร่มากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีเว็บบล็อก ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างพื้นที่ส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต ขณะที่จากสถิติพบว่าเด็กอายุ 6-14 ปี ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด

ผศ.อรรยา กล่าวว่า ขณะนี้การควบคุมเนื้อหาและพฤติกรรม ไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ตมักใช้วิธีการปิดกั้นเป็นหลัก ซึ่งเป็นการ แก้ปัญหาปลายเหตุ ขณะที่การปลูกฝังจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตยังมีน้อย ทำให้การแก้ไขปัญหาสื่อ ที่ไม่ปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตยัง เป็นไปได้ยาก

นายเอกพล สามัตถิยดีกุล เลขาธิการสมาคมการค้านักธุรกิจ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย กล่าวว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ต้องร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบแก้ไขปัญหาสื่อไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ต โดย ไอซีทีต้องดูแลระบบให้ปิดกั้นสื่อ ไม่เหมาะสมและค้นหาตัวผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ วธ.ต้องปลูกฝังจริยธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตให้กับประชาชน

ป้ายกำกับ: ,


บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv