11 เมษายน 2551

 

เจ้าฟ้าไอที และ การพัฒนา






ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์ ฉบับ ปีที่ 59 ฉบับที่ 18343 วันศุกร์ ที่ 11 เมษายน 2551







คนไทยคงจะชินกับข่าวทางโทรทัศน์ ที่ได้เห็นภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโรงเรียนต่างๆ ในชนบท ทรงมีพระปฏิสันถารกับครู นักเรียน และผู้ตามเสด็จในสิ่งที่ทอดพระเนตร สิ่งหนึ่งที่เราเห็นอยู่เสมอเมื่อเสด็จฯเยี่ยมโรงเรียนเกือบทุกที่ คือทรงทอดพระเนตรกิจกรรมในห้องคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งทรงบันทึกลงในสมุดที่ทรงถือติดพระองค์อยู่เป็นระยะๆ แม้คนทั่วไปจะไม่ทราบว่าทรงมีรับสั่งว่าอย่างไร ทรงมีพระราชดำริจะดำเนินงานอย่างไร หรือทรงบันทึกอะไร แต่วันนี้ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล หนึ่งในกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มีคำตอบบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง





สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเริ่มนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ประกอบด้วย นักเรียนในชนบท ผู้พิการ เด็กป่วยในโรงพยาบาลและผู้ต้องขัง มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 ด้วยทรงเล็งเห็นว่า การให้การศึกษาแก่คนจนสามารถประกอบสัมมาอาชีวะได้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะอยู่ในสถานะใดในสังคม เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะการมีงานทำ คือวิธีขจัดความยากจนที่มีความยั่งยืนที่สุด นอกจากนี้ เราจะสังเกตได้ว่า ทรงพระราช ดำเนินเยี่ยมโครงการต่างๆ ที่เป็นพระราชดำริอย่างสม่ำเสมอ และหลายโครงการที่ทรงทำนั้น ณ จุดเริ่มต้น ยังไม่มีส่วนราชการใดเข้าไปพัฒนา หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยังอยู่นอกแผนที่ของ “การพัฒนา” จนเมื่อพระองค์ท่านเข้า ไปแล้ว ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจึงได้เริ่มที่จะเข้ามาช่วย สานต่อพระราชดำริของพระองค์





กิจกรรมด้านการศึกษาหลายอย่าง ทรงเริ่มมาก่อนยุคการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที ตัวอย่างเช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 หลักการคือ “การทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นภาพสีได้ เพื่อสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้าหาวิธีดำเนินการให้มีข้อมูลที่จะรู้ได้ว่า ใครทำอะไรเกี่ยวกับพันธุกรรมพืชของหน่วยงานต่างๆ ให้สื่อถึงกันในระบบเดียวกันได้” (พระราชดำรัส เมื่อ 8 ก.พ. 2536) ทรงขยายกิจกรรมดังกล่าวไปยังโรงเรียน เรียกชื่อว่าโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หากเราจะถามว่าทำไปทำไม คงหาคำตอบได้จากพระราชดำรัสนี้ “การสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจและเกิดความปีติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้ความรู้สึกกลัวว่า หากไม่อนุรักษ์แล้วเกิดผลเสีย เกิดอันตรายต่อตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาว” (พระราชดำรัส เมื่อ 8 ก.พ. 2536)





อาจขยายความเพิ่มเติมว่า ทรงดำริว่าการเรียนรู้ที่ดี ควรจัดให้เด็กพบกับความสวยงาม สร้างความรู้สึกที่ดีๆ และเกิดความรักในสิ่งรอบตัว จะทำให้ มีความเข้าใจในสิ่งที่ควรทำจนเกิดปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาเพื่อการรักษาพืชพรรณและสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องสอนด้วยภาพหรือตัวอย่างที่น่าสะพรึงกลัวทรงเริ่มจัดเรื่องไอที เพื่อการศึกษาและโรงเรียนอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 ปีนั้นเป็นปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย โดยโครงการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.-ออกเสียงว่า ทดสะรด) นับเป็นกิจกรรมแรกภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ แนวทางที่พระราชทานแก่ทีมงานที่ทำโครงการไว้ คือ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการลงทุนที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ เราใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ ในบรรดาปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนานั้น ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด...ที่พูดกันมากในเวลานี้ คือเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาแบบยั่งยืน และมีแนวทางต่างๆ ที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ในการพัฒนาการศึกษาอยู่มาก เพื่อกระจายโอกาส และความเสมอ ภาคทางการศึกษา อันจะส่งผลต่อเนื่องให้การพัฒนาประเทศโดยรวมประสบผล สำเร็จ...” (พระราชดำรัส เมื่อ 2 มิ.ย. 2538)




แนวทางที่ทรงปฏิบัติก็คือ ทรงจัดโครงการนำร่องในโรงเรียนจำนวนหนึ่ง (ปัจจุบันมี 85 โรงเรียน) ส่วนใหญ่อยู่ตามชนบทห่างไกลและชายแดน (โปรดดูแผนที่) ผสมกับโรงเรียนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครนายก สำหรับเป็นศูนย์กลางการพัฒนา การนำแนวทางใหม่ๆ ไปทดลอง เนื่องจากอยู่ไม่ไกลนัก จึงสะดวกต่อการเดินทางไปติดตามประเมินได้ใกล้ชิด ก่อนที่จะขยายผลไปที่อื่นๆต่อไป ในระยะแรกได้พระราชทานตู้หนังสือพร้อมหนังสือ พิมพ์ดีดไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ โรงเรียนละ 20 เครื่อง เพื่อจัดเป็นห้องเรียน ในสมัยนั้นคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่แพงมากๆ และแทบจะหาครูไม่ได้ โรงเรียนห่างไกลจำนวนน้อยมากที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ ต่างจากโรงเรียนในเมือง ซึ่งหลายโรงได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น จึงถือว่าโครงการของพระองค์ท่าน ได้เปิดโอกาสให้เด็กที่เรียนอยู่ในชนบทห่างไกลเหล่านี้ ได้มีโอกาสเรียนและใช้คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และเมื่อเด็กมีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อเรียนจบแม้ไม่ได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้น ก็สามารถหางานทำได้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จในสภาวะขาดแคลนทุกด้านที่ทรงปฏิบัติ คือความลงตัว และการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า ตัวอย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์มือสอง ที่มีผู้บริจาคให้แก่โครงการ โดยความร่วมมือกับสมาพันธ์คอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย การใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า เพื่อสอนให้เด็กใช้แป้นพิมพ์ให้คล่องก่อนที่จะมาใช้คอมพิวเตอร์ (จะได้ไม่เปลืองไฟ และแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ขาดแคลน) ในการใช้งานก็เช่นกัน ทรงเน้นว่า คอมพิวเตอร์เหล่านี้ มีไว้เพื่อเรียนวิชาทั่วไป ไม่จำกัดอยู่ที่ “วิชาการใช้คอมพิวเตอร์” และผูกขาดโดยครูคอมพิวเตอร์ ให้แยกเครื่องบางเครื่องเพื่อนำไปใช้บริหารโรงเรียน ใช้ในการบริการของห้องสมุดด้วย



ปัจจุบันโครงการ ทสรช. ได้ปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานมาถึงยุคที่สามแล้ว ในยุคแรก คือ การให้การสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยุคที่สองคือการขยายผลโดยเพิ่มการฝึกอบรมครูในหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้ครูได้นำทักษะและความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปประยุกต์ใช้ได้มากขึ้น รวมถึงการต่ออินเตอร์เน็ต ส่วนในปัจจุบัน (ยุคที่สาม) เน้นเรื่องการบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกับการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ยุคที่สองเป็นต้นมา ไม่ทรงเน้นการพระราชทานเครื่องมากนัก เพราะโรงเรียนได้จากแหล่งต่างๆมากขึ้นแล้ว ไม่ว่าจากกระทรวงศึกษาฯ หรือจากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหรือชุมชน แต่ก็ยังมีการพระราชทานเครื่องใหม่ๆให้แก่โรงเรียนที่มีผลงานดีเด่น หรือที่มีความพร้อมแต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรจากกระทรวง ทุกครั้งที่ครูและนักเรียนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯในโอกาสต่างๆ จะเห็นว่า ทรงสนพระทัยครูและนักเรียนเป็นอย่างมาก โดยทรงจดชื่อหรือสอบถามชื่อครูและนักเรียนที่มาเข้าเฝ้าฯทุกครั้ง และทรงจดจำสภาพโรงเรียนหรือเหตุการณ์ของการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี บ่อยครั้งที่ได้ทรงถ่ายทอดเรื่องดีๆ แก่คณะกรรมการโครงการฯ ตัวอย่างเช่น
การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการบันทึกและคำนวณในงานต่างๆ “อย่างที่ศึกษาสงเคราะห์ตากนี่ก็จะมีโครงการทำเครื่องเงิน เด็กก็สามารถจะใช้คอมพิวเตอร์ลงสต๊อกของสินค้าหรือว่าการคำนวณลงบัญชีของเงิน ก็ประยุกต์ใช้ได้เยอะ หรือว่าโรงเรียน ตชด. บางโรงนี่เอามาสัมพันธ์กับโครงการเกษตรมาลงกำไร ขาดทุน การบัญชีเข้าโรงครัวอะไรต่างๆ เท่าไหร่ ก็ที่ใช้ประจำวันของโรงเรียนก็คือการใช้คำนวณสารอาหารว่า ได้รับอาหารเข้าไปอย่างนี้ โปรตีนเท่าไหร่ คาร์โบไฮเดรตเท่าไหร่ สัมพันธ์กับเรื่องของการผลิต การผลิตอาหารกับการเกษตร การเกษตรกับอาหารนี่สัมพันธ์กัน” (พระราชดำรัส 11 ม.ค. 2551)





ยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเพื่อช่วยให้คนพิการ ได้มีวิธีการและอุปกรณ์ที่ทำให้ช่วยตนเองได้มากขึ้น รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงคำตอบเหล่านี้ในราคาที่ไม่แพงนัก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเด็กพิการในระดับ “สุดยาก” ไว้ในพระราชานุเคราะห์หลายคน และทรงมีทีมงานศึกษาวิจัยเพื่อหาอุปกรณ์หรือวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสม ให้แก่บุคคลเหล่านั้น เช่น กรณีเด็กหญิงและเด็กชาย ที่พิการไม่มีแขนขามาแต่กำเนิดซึ่งปัจจุบันสามารถเดินทาง ไปไหนมาไหนด้วยรถวีลแชร์ติดมอเตอร์ และเข้าเรียนร่วมกับเพื่อนๆ โดยใช้คอมพิวเตอร์แทนปากกาและกระดาษ ทรงให้การสนับสนุนแก่สถาบัน สมาคม มูลนิธิต่างๆ เพื่อคนพิการมาโดยตลอด ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้รับรางวัล แฟรงกลิน ดี รอสเวลท์ เพื่อผู้พิการนานาชาติ ปี ค.ศ.2001 ซึ่งสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปรับรางวัลแทนพระองค์ที่มหานครนิวยอร์ก เมื่อ พ.ศ. 2544





ทีมงานในโครงการทุกคนสนุกกับการทำงานสนองพระราชดำริเป็นอย่างมาก เพราะทรงเป็นกันเองกับทุกคน ทรงพร้อมด้วยข้อมูลระดับปฐมภูมิ เกี่ยวกับปัญหาในภาคสนามที่ได้จากการเยี่ยมพื้นที่ของโครงการด้วยพระองค์เอง รวมทั้งทรงใส่พระทัยในความเป็นอยู่ของครูและนักเรียน ทั้งที่เป็นคนปกติและคนพิการ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อช่วยเหลือคนพิการทุกรูปแบบอีกจำนวนมาก เกินกว่าที่จะเล่าให้จบในพื้นที่ขนาดนี้ได้ ผลสำเร็จหลายๆ ด้านของโครงการฯ ได้ถูกนำไปขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และหลายด้านพร้อมที่จะขยายผล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้โดยแท้จริง.





บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv