28 เมษายน 2551

 

"อินเทอร์เน็ต" เหรียญ 2 ด้าน ถ้าใช้ผิดบ่มเพาะยุวอาชญากร



ช่วงเวลาที่โลกกำลังเชื่อมเข้าหากันผ่าน "อินเทอร์เน็ต" ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงคุณประโยชน์มหาศาลเท่านั้น



แต่ยังพ่วงมาด้วย "โทษมหันต์" หากใช้ไม่ถูกทางอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวด้านลบตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้งอย่างเช่น แคมฟร็อก คลิปวิดีโป๊ และเกมออนไลน์ประเภทสู้กันดุเดือดจนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ



ผู้ใหญ่ "ระดมสมอง" หาทางออก



ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ บนเวทีเสวนาการรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นโต้โผนำทัพนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมกันหารือถึง "จุดบอด" ของสังคมออนไลน์วันนี้คือ ความพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กติดเกม



รวมถึงการเสพสื่อสมัยใหม่อย่างไร้สติ สู่การเป็นผู้สร้างและพัฒนาต่อยอด จนสามารถช่วยยกระดับความก้าวหน้าให้อุตสาหกรรมไอซีทีไทยได้



ซาตานในคราบ"อินเทอร์เน็ต"



รศ.ดร. สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า "เยาวชนไทย 2 ใน 5 คนวันนี้มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นยุวอาชญากร ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 40% จากช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เด็กๆ เริ่มหันมาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกม และติดสื่อสมัยใหม่"



นอกจากนี้ เด็กเร่ร่อนที่กำลังเพิ่มจำนวนในปัจจุบัน ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมจากสังคมออนไลน์ เนื่องจากแหล่งมั่วสุมของเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่คือ "ร้านเกม" เพราะสามารถเล่นได้ทั้งวันทั้งคืน ในราคาที่ถูกมาก



"เด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่หาเงินได้ก็เอาไปเล่นเกม ขณะที่ร้านเกมบางร้านก็เป็นแหล่งแพร่ระบาดยาเสพติดในตัว เพราะเมื่อเด็กเล่นเกมเหนื่อยก็ต้องการสารกระตุ้น กลายเป็นติดทั้งเกม ติดทั้งยา เป็นต้นตอของปัญหาอาชญากรรมที่ต้องรีบแก้ไข"



นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของการถูกล่อลวงจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งเกิดจากการใช้โปรแกรมแชท การติดต่อสื่อสารผ่านเวบแคม รวมถึงการคุยผ่านแชทไลน์ (1900) ซึ่งข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในจำนวนสายแชทไลน์ทั้งหมด 22.3% เป็นสายแชทไลน์ที่แฝงด้วยจุดประสงค์ร้าย



เขายังยกงานวิจัยมายืนยันว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีเพียง 20% เท่านั้นที่ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการหาข้อมูล-ความรู้ ในขณะที่อีก 80% ที่เหลือถูกใช้ไปในแง่ของความบันเทิง เล่นเกมออนไลน์ รวมถึงการก่ออาชญกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต



อย่างไรก็ตาม งเสวนาต่างยอมรับว่า อินเทอร์เน็ตก็ยังมีด้านดีอยู่ไม่น้อย แต่มักไม่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นทางสังคม นั่นเพราะสิ่งที่เกิดจากภัยออนไลน์นั้นมีผลกระทบรุนแรง และควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน



กฎหมาย"อ่อนให้"หรือ"อ่อนแอ"



ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันกระทรวงไอซีทีจะมีโครงการป้องกัน และสกัดภัยออนไลน์หลากหลายรูปแบบ เช่น โครงการไซเบอร์คลีน เพื่อปิดกั้นเวบลามก อนาจาร โครงการเฝ้าระวังการใช้อินเทอร์เน็ตไม่เหมาะสม ตลอดจนโครงการอาสามัครเพื่อแจ้งเตือนภัยต่างๆ



ทั้งยังมีตัวบทกฎหมายที่กำหนดเป็นบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ไว้อย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนว่า ยังไม่เพียงพอต่อการไล่ตามภัยออนไลน์ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วยิ่งกว่า "ไวรัส" ที่ติดบนเครื่องคอมพิวเตอร์



นายวชิระ เพ่งผล ผู้อำนวยการ สำนักตรวจราชการ สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานสืบสวนเกี่ยวกับเยาวชน และสตรี ยอมรับว่า ขั้นตอนของกฎหมายยังเชื่องช้าเกินกว่าที่จะไล่ตามภัยออนไลน์ได้ทัน ในขณะที่จำนวนผู้ถูกล่อลวง และถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ไม่ถูกต้องกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที



"กฎหมายควบคุมการใช้เน็ตถูกเลื่อนบังคับใช้หลายรอบ เพราะให้อำนาจใช้บังคับไม่ทัน ทั้งปัญหาจากตัวเจ้าหน้าที่เอง และความไม่พร้อมของระบบการทำงาน ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้"



เขาระบุว่า ปัจจุบันหลังจากบังคับใช้กฎหมายห้ามมิให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่หลัง 22.00 น. และห้ามเด็กเล่นเกมต่อเนื่องกัน 3 ชั่วโมง รวมถึงการจัดระดับเกมที่เหมาะกับผู้เล่นในแต่ละวัย ส่งผลให้ยอดผู้กระทำผิดลดน้อยลง



ขัดแย้งกับมุมมองของนายศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายกสมาคมผู้ปกครอง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเห็นว่า ปัญหาเด็กติดเกม รวมถึงการก่อคดีของเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่ถูกวิธี ซึ่งมักพบในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร



"คำตอบที่ได้จากเด็กๆ ส่วนใหญ่ที่เข้าไปเล่นในร้านเน็ตคือ พวกเขาไม่เคยกลัวกฎหมายถึงจะไม่ให้เล่นติดกัน 3 ชั่วโมง เด็กก็มีวิธีหลบเลี่ยงได้ เจ้าของร้านก็ไม่คุม ในขณะที่เจ้าหน้าที่บางรายก็ไม่เข้มงวดเท่าที่ควรทำให้กฎหมายกลายเป็นทฤษฎีที่ใช้ไม่ได้จริง"


ป้ายกำกับ: , , ,


 

ชี้เด็กไทยวิกฤตหนัก! คุณธรรมลด-ก้าวร้าว หวั่นเป็นยุวอาชญากร

นักวิชาการจุฬาฯชี้เด็กไทยวิกฤติหนัก ก้าวร้าว หมกมุ่นเรื่องเพศ ติดเกม ทำศัลยกรรม คุณธรรมและจริยธรรมลดฮวบ เดินตามก้นเกาหลี-ญี่ปุ่น เหตุรากวัฒนธรรมกำลังเน่า ห่วงอีก 10-15 ปี พัฒนาเป็นยุวอาชญากร

ด้านเลขาฯมูลนิธิชัยพัฒนาเผย "ในหลวง" ทรงเตือนสติคนไทย ใช้ชีวิตพอเพียง เดินสายกลาง รู้จักประมาณตน มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันสถาบันพระบรมราชนก ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเขตภาคกลาง 97 จัดประชุมวิชาการประจำปี 2550 ของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเขตภาคกลาง เพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย...จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ เพื่อเฉลิมพระเกียติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ที่ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 สิงหาคม ซึ่งมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายพิเศษเรื่อง "พระจริยวัตรของในหลวงกับเศรษฐกิจพอเพียง"

นายสุเมธกล่าวตอนหนึ่งว่า หลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง เป็นเรื่องของปรัชญาและธรรมะ ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานอยากที่จะทำให้ระบบการทำงานของตนเอง เป็นไปในรูปแบบของเศรษฐกิจแบบพอเพียง

โดยการยึดหลักธรรม 3 ประการ คือ

1.ความพอประมาณ แต่ความพอประมาณตนของแต่ละคนไม่เท่ากัน ต้องรู้จักประเมินตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร

2.ความมีเหตุมีผล สามารถอธิบายได้ว่าทุกอย่างที่ทำมีที่มาที่ไปอย่างไร และ

3.มีภูมิคุ้มกัน เป็นการป้องกันก่อนที่จะทำอะไร หรือก่อนที่ปัญหาต่างๆ จะเกิด เป็นการใช้สติในการจัดการกับปัญหาในทุกๆ เรื่อง สติเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต เมื่อใช้สติแล้วปัญญาก็จะเกิด ซึ่งถ้าใช้หลักการทั้ง 3 ข้อนี้ก็จะสามารถดำเนินชีวิตภายใต้เศรษฐกิจแบบพอเพียงได้อย่างมีหลักการ"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเตือนสติคนไทยอยู่ตลอดเวลาว่าให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง เดินทางสายกลาง เมื่อรู้จักประมาณตนแล้ว ต้องใช้เหตุใช้ผล และมีสติ รู้จักบริหารความเสี่ยง คือ ต้องมีจริยธรรมคุณธรรม และมุ่งประโยชน์สุขเป็นที่ตั้ง เวลาจะทำอะไรก็ตาม ให้ยึดหลักธรรม และธรรมชาติ ทุกอย่างจะสำเร็จลงได้ด้วยดี ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ธรรมดา แค่นี้ก็จะสามารถทำให้เราอยู่ได้อย่างมีความสุข" นายสุเมธกล่าว จากนั้นเป็นการบรรยายเรื่อง "วิกฤตเยาวชนไทยในยุคปัจจุบัน"

โดยนายสมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกล่าวว่า สถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยจะแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ปัญหาหนักจนถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากปัญหาหลัก 3 ด้าน คือ

1.ปัจจุบันเด็กและเยาวชน ร้อยละ 90 มีคุณลักษณะหรือคาแรคเตอร์ ก้าวร้าว หมกมุ่นเรื่องเพศ และติดเกม ทำให้เด็กมีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรมลดลง

2.เด็กที่ศึกษาในระดับมัธยมมีการเปลี่ยนแปลงในทางแย่มากขึ้น คือ เล่นกีฬา ช่วยงานบ้าน ไปเที่ยวกับครอบครัวและไปวัดน้อยลง ขณะที่เด็กเหล่านี้มีความต้องการที่จะเล่นอินเตอร์เน็ต ดูเว็บโป๊ ทำศัลยกรรม เที่ยวกลางคืน เล่นหวย คุยโทรศัพท์ และติดเพื่อนเพิ่มมากขึ้น และ

3.เด็กไทยจะเป็นเด็กที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย โดยเฉพาะวัฒนธรรม K-Pop คือ วัฒนธรรมของนักร้อง ดาราเกาหลี ซึ่งวัยรุ่นเกาหลี ร้อยละ 30 ทำศัลยกรรมทั้งสิ้น และ J-Pop วัฒนธรรมดารา นักร้องญี่ปุ่น จึงทำให้กลืนความเป็นไทย วัฒนธรรมดีๆ ของไทยลดน้อยลงเหลือประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น คือเหลือเพียง รู้จักการไหว้ พูดภาษาไทย และใช้เงินไทยเท่านั้น"

นายสมพงษ์กล่าวว่า รากของวัฒนธรรมไทยในเด็กกำลังจะเน่า เพราะเด็กไทยจะซึมซับเอาวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาผสม
จนกลายเป็นวัฒนธรรมสากลไปจนหมด โดยเฉพาะปัญหาทางเพศ ที่เด็กไทยเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ก่อนวัยอันควรหลายปี เป็นเพราะในสังคมมีวัตถุทางเพศดาษดื่น ส่วนใหญ่มาจากการเล่นอินเตอร์เน็ต เข้าชมเว็บโป๊ หรือวีซีดีโป๊ต่างๆ เมื่อมีการเรียนรู้ ก็จะกระตุ้นให้เด็กทดลองด้วยตัวเอง คือไปมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาสังคมตามมาคือ ตั้งครรภ์ตั้งแต่ในวัยเรียน"

นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา มีมากถึงร้อยละ 4 ของเด็กในวัยเรียนทั้งหมด หรือประมาณ 2-3 แสนคนทั่วประเทศ จากทั้งหมด 175 เขตการศึกษา เฉลี่ยมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา เขตการศึกษาละ 1,000-1,200 คน เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเด็กกลุ่มนี้เฉลี่ยชุมชนละ 15-20 คน

สาเหตุที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียนหนังสือมาจากการอพยพย้ายถิ่นที่ทำงานตามพ่อแม่ และปัญหาความยากจน นายสมพงษ์กล่าวว่า เด็กเหล่านี้เมื่อไม่ได้เรียนหนังสือก็จะกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ มักจะทำงานรับช่วงต่อจากพ่อแม่ โดยเด็กผู้หญิงมักจะไปทำงานเป็นสาวโรงงาน สาวห้าง หรือเด็กเสิร์ฟ สุดท้ายก็ถูกหิ้ว ถูกออฟ ส่วนเด็กผู้ชายก็จะหันไปขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และเมื่อรายได้ไม่พอใช้ก็จะอพยพเข้าเมือง แต่ปัญหาก็ไม่จบเพราะชีวิตในเมืองอ้างว้าง โดดเดี่ยว ทำให้ต้องรีบหาคู่มีครอบครัวซึ่งวงจรชีวิตของลูกหลานของเขา ก็จะโคจรเหมือนพ่อแม่ เป็นปัญหาที่ไม่สิ้นสุด

จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่าคนที่อายุเพียง 28 ปี ก็เป็นย่า เป็นยายคนได้"จากการติดตามพฤติกรรมเด็กพบเรื่องที่น่าตกใจคือ ว่าเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นยุวอาชญากรสูงมาก ยิ่งหากมีปัญหายาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเด็กก็จะพัฒนากลายเป็นโจรได้ง่ายขึ้น มีการตบทรัพย์จากเด็กด้วยกัน หรือไปจับกลุ่มตามห้างสรรพสินค้า อยู่ในซอก จุดอับ เพื่อขู่กรรโชกทรัพย์จากคนที่มาเดินห้าง ในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดมาจากปัญหาการศึกษาเข้ามาถึงคนกลุ่มนี้" อาจารย์คณะครุศาสตร์จุฬาฯระบุ

ที่มา จากเว็บ Dhamma Media Channel

ป้ายกำกับ: , ,


 

เว็บโป๊ร้านเกมเป็นเหตุ! จับ 3 ด.ช.ตัวกะเปี๊ยกรุมโทรม ด.ญ.7 ขวบ!



โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์
25 เมษายน 2551 14:02 น.


สังคมป่วยหนัก ตำรวจธรรมศาลานำหมายศาลเข้าจับกุม 3 เด็กชาย อายุ 8 ขวบ 11 ขวบ และ 12 ขวบ ผู้ต้องหารุมโทรมเด็กหญิงอายุ 7 ขวบในพงหญ้าของหมู่บ้าน สารภาพเห็นภาพโป๊ในร้านเกมที่กลุ่มวัยรุ่นเปิดให้ดูจึงนำไปเลียนแบบ


เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (24 เม.ย.) พ.ต.ต.ภูวเดช เนียมศรี สว.สส.สน.ธรรมศาลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ธรรมศาลา ได้นำหมายจับของศาลเด็กและเยาวชนกลาง เลขที่ จ.255-256-257/2551 ลงวันที่ 24 เมษายน 2551 เข้าจับกุมเด็กชายเอ (นามสมมติ) อายุ 8 ขวบ เด็กชายบี (นามสมมติ) อายุ 11 ปี และ เด็กชายซี (นามสมมติ) อายุ 12 ปี ในข้อหารุมโทรม ภายในหมู่บ้านทิพย์มณฑล ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กทม.และนำตัวมาที่ สน.พร้อมด้วยผู้ปกครองของเด็กทั้ง 3 คน


พ.ต.ต.ภูวเดช กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมาผู้ปกครองของ ด.ญ.นก(นามสมมติ) อายุ 7 ปี ได้เดินทางเข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.ประวิท สว่างศิริพรชัย พนักงานสอบสวน (สบ.2) ว่าบุตรสาวถูก ด.ช.เอ ด.ช.บี และ ด.ช.ซี ร่วมกันพาตัวไปรุมโทรมที่บริเวณพงหญ้ารกทึบภายในหมู่บ้านดังกล่าว โดยเด็กกลุ่มดังกล่าวเป็นเพื่อนกับ ด.ญ.นก มักจะเล่นด้วยกันเป็นประจำ ซึ่งในวันเกิดเหตุมีเด็กในหมู่บ้านวิ่งไปบอกว่า ด.ญ.นก ถูกรุมข่มขืน ผู้ปกครองผู้เสียหายจึงเดินทางมาแจ้งความ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้พาตัว ด.ญ.นก ไปตรวจร่างกายที่ รพ.ศิริราช พบว่ามีร่องรอยการถูกข่มขืนจึงได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดขออนุมัติออกหมายจับเด็กทั้ง 3 คน


“เด็กทั้ง 3 คนให้การรับสารภาพว่าร่วมกันกระทำเหตุดังกล่าวจริง เนื่องจากไปเล่นเกมในร้านอินเทอร์เน็ต และเห็นกลุ่มวัยรุ่นในร้านเปิดเว็บโป๊และจดจำมาเลียนแบบ ซึ่งเด็กอายุยังน้อย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมทำให้เด็กมีเวลาว่าง และผู้ปกครองดูแลไม่ทั่วถึงจนเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น” พ.ต.ต.ภูวเดช กล่าว


จากการสอบปากคำ ด.ช.เอ (นามสมมติ) ให้การว่า ตนกับเพื่อนอีก 2 คนเข้าไปเล่นเกมในร้านอินเทอร์เน็ตและเห็นกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ภายในร้านเปิดเว็บโป๊ ตนจึงเข้าไปร่วมดูด้วย จากนั้นจึงได้ไปชักชวน ด.ญ.นก เล่นตามแบบหนังโป๊ที่เห็น โดยกระทำมาแล้ว 2-3 ครั้ง โดยที่ ด.ญ.นก ยินยอมเล่นกับตนด้วยทุกครั้ง ในวันเกิดเหตุตนได้ชักชวนกลุ่มเพื่อนประมาณ 5 คน ไปเล่นกับ ด.ญ.นก แบบเดิมอีกที่พงหญ้าภายในหมู่บ้าน แต่เพื่อนๆ บางคนไม่ยอมเล่นด้วย ตนจึงแสดงให้เพื่อนดู จนกระทั่งมีเพื่อนในกลุ่มวิ่งไปบอกแม่ของ ด.ญ.นก จากนั้นก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวมาที่ สน.


เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำเด็กทั้ง 3 คนไว้เป็นหลักฐานแล้ว ก่อนจะสอบปากคำร่วมกับสหวิชาชีพอีกครั้ง และแจ้งข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 13 ปี โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง และพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร

ป้ายกำกับ: , , ,


18 เมษายน 2551

 

ตะลึงชาวเว็บแห่โพสต์เรื่องกามวิปริต

โพสต์ทูเดย์ — อาจารย์มหิดลเผยนักท่องเน็ตแห่โพสต์-อ่านเรื่องลามกวิปริต พบเว็บเดียวมีกว่า 2 แสนเรื่อง

นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อ การพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการจัดเวทีประเมินสถานการณ์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสังคมไทย พบว่าเว็บไซต์เผยแพร่เรื่องลามกและเขียนบรรยายการมีเพศสัมพันธ์เป็นอีกเว็บหนึ่งที่ได้รับความนิยมเข้าไปชมจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเว็บไซต์เผยแพร่และเปิดให้มีการเข้ามาโพสต์เรื่องลามกแห่งหนึ่ง พบว่า มีการแบ่งกลุ่มเรื่องลามกตามเพศสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ซึ่งบางกลุ่มเป็นเรื่องวิปริตที่สังคมไม่ให้การ ยอมรับ เช่น เซ็กซ์กับสัตว์ เซ็กซ์แบบข่มขืน เซ็กซ์กับครอบครัวเดียวกัน เซ็กซ์แบบทาส โดยพบว่าในเว็บดังกล่าวมีเรื่องลามกมากกว่า 2 แสนเรื่อง

นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการอ่านเรื่องต้องสมัครสมาชิกในอัตราตั้งแต่ 375-1,395 บาท เพื่อแลกสิทธิเข้าชมตั้งแต่ 1-6 เดือน รวมทั้งยังเปิดให้ซื้อสิทธิเข้าอ่านเรื่องผ่านการ ส่งเอสเอ็มเอสในอัตราเรื่องละ 50 บาท รวมทั้งโฆษณาเชิญชวนให้ ผู้เข้าชมเขียนเล่าเรื่องเพศสัมพันธ์ของตัวเอง เพื่อแลกกับสิทธิสมาชิกเป็นเวลา 1 เดือน

ด้าน ผศ.อรรยา สิงห์สงบ คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า เว็บไซต์ที่เผย แพร่เรื่องเล่าลามก น่าจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเป็นการเผยแพร่เรื่องลามกอนาจารบน อินเทอร์เน็ตที่ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีได้ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ผู้สร้างเนื้อหาเผยแพร่มากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีเว็บบล็อก ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างพื้นที่ส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต ขณะที่จากสถิติพบว่าเด็กอายุ 6-14 ปี ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด

ผศ.อรรยา กล่าวว่า ขณะนี้การควบคุมเนื้อหาและพฤติกรรม ไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ตมักใช้วิธีการปิดกั้นเป็นหลัก ซึ่งเป็นการ แก้ปัญหาปลายเหตุ ขณะที่การปลูกฝังจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตยังมีน้อย ทำให้การแก้ไขปัญหาสื่อ ที่ไม่ปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตยัง เป็นไปได้ยาก

นายเอกพล สามัตถิยดีกุล เลขาธิการสมาคมการค้านักธุรกิจ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย กล่าวว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ต้องร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบแก้ไขปัญหาสื่อไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ต โดย ไอซีทีต้องดูแลระบบให้ปิดกั้นสื่อ ไม่เหมาะสมและค้นหาตัวผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ วธ.ต้องปลูกฝังจริยธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตให้กับประชาชน

ป้ายกำกับ: ,


11 เมษายน 2551

 

เจ้าฟ้าไอที และ การพัฒนา






ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์ ฉบับ ปีที่ 59 ฉบับที่ 18343 วันศุกร์ ที่ 11 เมษายน 2551







คนไทยคงจะชินกับข่าวทางโทรทัศน์ ที่ได้เห็นภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโรงเรียนต่างๆ ในชนบท ทรงมีพระปฏิสันถารกับครู นักเรียน และผู้ตามเสด็จในสิ่งที่ทอดพระเนตร สิ่งหนึ่งที่เราเห็นอยู่เสมอเมื่อเสด็จฯเยี่ยมโรงเรียนเกือบทุกที่ คือทรงทอดพระเนตรกิจกรรมในห้องคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งทรงบันทึกลงในสมุดที่ทรงถือติดพระองค์อยู่เป็นระยะๆ แม้คนทั่วไปจะไม่ทราบว่าทรงมีรับสั่งว่าอย่างไร ทรงมีพระราชดำริจะดำเนินงานอย่างไร หรือทรงบันทึกอะไร แต่วันนี้ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล หนึ่งในกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มีคำตอบบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง





สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเริ่มนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ประกอบด้วย นักเรียนในชนบท ผู้พิการ เด็กป่วยในโรงพยาบาลและผู้ต้องขัง มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 ด้วยทรงเล็งเห็นว่า การให้การศึกษาแก่คนจนสามารถประกอบสัมมาอาชีวะได้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะอยู่ในสถานะใดในสังคม เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะการมีงานทำ คือวิธีขจัดความยากจนที่มีความยั่งยืนที่สุด นอกจากนี้ เราจะสังเกตได้ว่า ทรงพระราช ดำเนินเยี่ยมโครงการต่างๆ ที่เป็นพระราชดำริอย่างสม่ำเสมอ และหลายโครงการที่ทรงทำนั้น ณ จุดเริ่มต้น ยังไม่มีส่วนราชการใดเข้าไปพัฒนา หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยังอยู่นอกแผนที่ของ “การพัฒนา” จนเมื่อพระองค์ท่านเข้า ไปแล้ว ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจึงได้เริ่มที่จะเข้ามาช่วย สานต่อพระราชดำริของพระองค์





กิจกรรมด้านการศึกษาหลายอย่าง ทรงเริ่มมาก่อนยุคการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที ตัวอย่างเช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 หลักการคือ “การทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นภาพสีได้ เพื่อสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้าหาวิธีดำเนินการให้มีข้อมูลที่จะรู้ได้ว่า ใครทำอะไรเกี่ยวกับพันธุกรรมพืชของหน่วยงานต่างๆ ให้สื่อถึงกันในระบบเดียวกันได้” (พระราชดำรัส เมื่อ 8 ก.พ. 2536) ทรงขยายกิจกรรมดังกล่าวไปยังโรงเรียน เรียกชื่อว่าโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หากเราจะถามว่าทำไปทำไม คงหาคำตอบได้จากพระราชดำรัสนี้ “การสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจและเกิดความปีติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้ความรู้สึกกลัวว่า หากไม่อนุรักษ์แล้วเกิดผลเสีย เกิดอันตรายต่อตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาว” (พระราชดำรัส เมื่อ 8 ก.พ. 2536)





อาจขยายความเพิ่มเติมว่า ทรงดำริว่าการเรียนรู้ที่ดี ควรจัดให้เด็กพบกับความสวยงาม สร้างความรู้สึกที่ดีๆ และเกิดความรักในสิ่งรอบตัว จะทำให้ มีความเข้าใจในสิ่งที่ควรทำจนเกิดปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาเพื่อการรักษาพืชพรรณและสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องสอนด้วยภาพหรือตัวอย่างที่น่าสะพรึงกลัวทรงเริ่มจัดเรื่องไอที เพื่อการศึกษาและโรงเรียนอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 ปีนั้นเป็นปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย โดยโครงการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.-ออกเสียงว่า ทดสะรด) นับเป็นกิจกรรมแรกภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ แนวทางที่พระราชทานแก่ทีมงานที่ทำโครงการไว้ คือ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการลงทุนที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ เราใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ ในบรรดาปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนานั้น ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด...ที่พูดกันมากในเวลานี้ คือเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาแบบยั่งยืน และมีแนวทางต่างๆ ที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ในการพัฒนาการศึกษาอยู่มาก เพื่อกระจายโอกาส และความเสมอ ภาคทางการศึกษา อันจะส่งผลต่อเนื่องให้การพัฒนาประเทศโดยรวมประสบผล สำเร็จ...” (พระราชดำรัส เมื่อ 2 มิ.ย. 2538)




แนวทางที่ทรงปฏิบัติก็คือ ทรงจัดโครงการนำร่องในโรงเรียนจำนวนหนึ่ง (ปัจจุบันมี 85 โรงเรียน) ส่วนใหญ่อยู่ตามชนบทห่างไกลและชายแดน (โปรดดูแผนที่) ผสมกับโรงเรียนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครนายก สำหรับเป็นศูนย์กลางการพัฒนา การนำแนวทางใหม่ๆ ไปทดลอง เนื่องจากอยู่ไม่ไกลนัก จึงสะดวกต่อการเดินทางไปติดตามประเมินได้ใกล้ชิด ก่อนที่จะขยายผลไปที่อื่นๆต่อไป ในระยะแรกได้พระราชทานตู้หนังสือพร้อมหนังสือ พิมพ์ดีดไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ โรงเรียนละ 20 เครื่อง เพื่อจัดเป็นห้องเรียน ในสมัยนั้นคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่แพงมากๆ และแทบจะหาครูไม่ได้ โรงเรียนห่างไกลจำนวนน้อยมากที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ ต่างจากโรงเรียนในเมือง ซึ่งหลายโรงได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น จึงถือว่าโครงการของพระองค์ท่าน ได้เปิดโอกาสให้เด็กที่เรียนอยู่ในชนบทห่างไกลเหล่านี้ ได้มีโอกาสเรียนและใช้คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และเมื่อเด็กมีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อเรียนจบแม้ไม่ได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้น ก็สามารถหางานทำได้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จในสภาวะขาดแคลนทุกด้านที่ทรงปฏิบัติ คือความลงตัว และการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า ตัวอย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์มือสอง ที่มีผู้บริจาคให้แก่โครงการ โดยความร่วมมือกับสมาพันธ์คอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย การใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า เพื่อสอนให้เด็กใช้แป้นพิมพ์ให้คล่องก่อนที่จะมาใช้คอมพิวเตอร์ (จะได้ไม่เปลืองไฟ และแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ขาดแคลน) ในการใช้งานก็เช่นกัน ทรงเน้นว่า คอมพิวเตอร์เหล่านี้ มีไว้เพื่อเรียนวิชาทั่วไป ไม่จำกัดอยู่ที่ “วิชาการใช้คอมพิวเตอร์” และผูกขาดโดยครูคอมพิวเตอร์ ให้แยกเครื่องบางเครื่องเพื่อนำไปใช้บริหารโรงเรียน ใช้ในการบริการของห้องสมุดด้วย



ปัจจุบันโครงการ ทสรช. ได้ปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานมาถึงยุคที่สามแล้ว ในยุคแรก คือ การให้การสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยุคที่สองคือการขยายผลโดยเพิ่มการฝึกอบรมครูในหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้ครูได้นำทักษะและความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปประยุกต์ใช้ได้มากขึ้น รวมถึงการต่ออินเตอร์เน็ต ส่วนในปัจจุบัน (ยุคที่สาม) เน้นเรื่องการบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกับการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ยุคที่สองเป็นต้นมา ไม่ทรงเน้นการพระราชทานเครื่องมากนัก เพราะโรงเรียนได้จากแหล่งต่างๆมากขึ้นแล้ว ไม่ว่าจากกระทรวงศึกษาฯ หรือจากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหรือชุมชน แต่ก็ยังมีการพระราชทานเครื่องใหม่ๆให้แก่โรงเรียนที่มีผลงานดีเด่น หรือที่มีความพร้อมแต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรจากกระทรวง ทุกครั้งที่ครูและนักเรียนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯในโอกาสต่างๆ จะเห็นว่า ทรงสนพระทัยครูและนักเรียนเป็นอย่างมาก โดยทรงจดชื่อหรือสอบถามชื่อครูและนักเรียนที่มาเข้าเฝ้าฯทุกครั้ง และทรงจดจำสภาพโรงเรียนหรือเหตุการณ์ของการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี บ่อยครั้งที่ได้ทรงถ่ายทอดเรื่องดีๆ แก่คณะกรรมการโครงการฯ ตัวอย่างเช่น
การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการบันทึกและคำนวณในงานต่างๆ “อย่างที่ศึกษาสงเคราะห์ตากนี่ก็จะมีโครงการทำเครื่องเงิน เด็กก็สามารถจะใช้คอมพิวเตอร์ลงสต๊อกของสินค้าหรือว่าการคำนวณลงบัญชีของเงิน ก็ประยุกต์ใช้ได้เยอะ หรือว่าโรงเรียน ตชด. บางโรงนี่เอามาสัมพันธ์กับโครงการเกษตรมาลงกำไร ขาดทุน การบัญชีเข้าโรงครัวอะไรต่างๆ เท่าไหร่ ก็ที่ใช้ประจำวันของโรงเรียนก็คือการใช้คำนวณสารอาหารว่า ได้รับอาหารเข้าไปอย่างนี้ โปรตีนเท่าไหร่ คาร์โบไฮเดรตเท่าไหร่ สัมพันธ์กับเรื่องของการผลิต การผลิตอาหารกับการเกษตร การเกษตรกับอาหารนี่สัมพันธ์กัน” (พระราชดำรัส 11 ม.ค. 2551)





ยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเพื่อช่วยให้คนพิการ ได้มีวิธีการและอุปกรณ์ที่ทำให้ช่วยตนเองได้มากขึ้น รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงคำตอบเหล่านี้ในราคาที่ไม่แพงนัก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเด็กพิการในระดับ “สุดยาก” ไว้ในพระราชานุเคราะห์หลายคน และทรงมีทีมงานศึกษาวิจัยเพื่อหาอุปกรณ์หรือวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสม ให้แก่บุคคลเหล่านั้น เช่น กรณีเด็กหญิงและเด็กชาย ที่พิการไม่มีแขนขามาแต่กำเนิดซึ่งปัจจุบันสามารถเดินทาง ไปไหนมาไหนด้วยรถวีลแชร์ติดมอเตอร์ และเข้าเรียนร่วมกับเพื่อนๆ โดยใช้คอมพิวเตอร์แทนปากกาและกระดาษ ทรงให้การสนับสนุนแก่สถาบัน สมาคม มูลนิธิต่างๆ เพื่อคนพิการมาโดยตลอด ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้รับรางวัล แฟรงกลิน ดี รอสเวลท์ เพื่อผู้พิการนานาชาติ ปี ค.ศ.2001 ซึ่งสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปรับรางวัลแทนพระองค์ที่มหานครนิวยอร์ก เมื่อ พ.ศ. 2544





ทีมงานในโครงการทุกคนสนุกกับการทำงานสนองพระราชดำริเป็นอย่างมาก เพราะทรงเป็นกันเองกับทุกคน ทรงพร้อมด้วยข้อมูลระดับปฐมภูมิ เกี่ยวกับปัญหาในภาคสนามที่ได้จากการเยี่ยมพื้นที่ของโครงการด้วยพระองค์เอง รวมทั้งทรงใส่พระทัยในความเป็นอยู่ของครูและนักเรียน ทั้งที่เป็นคนปกติและคนพิการ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อช่วยเหลือคนพิการทุกรูปแบบอีกจำนวนมาก เกินกว่าที่จะเล่าให้จบในพื้นที่ขนาดนี้ได้ ผลสำเร็จหลายๆ ด้านของโครงการฯ ได้ถูกนำไปขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และหลายด้านพร้อมที่จะขยายผล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้โดยแท้จริง.





03 เมษายน 2551

 

นศ.ไทยคิดอย่างไรกับการบล็อก "Hi5" ของไอซีที


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 เมษายน 2551 15:31 น.




บล็อก บล็อก บล็อก ... คำ ๆ นี้ อาจหลุดออกมาจากปากของผู้ใหญ่บ้านเราได้บ่อยครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุด เมื่อกระทรวงไอซีที ส่งหนังสือแจ้งไปถึงเว็บไซต์ชื่อดัง "hi5" ให้ช่วยบล็อกหน้าเว็บไซต์ที่มีการเชิญชวนให้มีเพศสัมพันธ์แบบสวิงกิ้ง พร้อมระบุว่าหากไม่ให้ความร่วมมือจะขออำนาจศาลเพื่อปิดเว็บไซต์ไม่ให้ใช้งานในประเทศไทย เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว การบล็อกเป็นทางออกทางเดียวสำหรับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ตหรือไม่ ลองไปฟังความเห็นคนรุ่นใหม่กันดูว่าเขามีมุมมองอย่างไร


จอย - ภัทรา พิบูลธนเกียรติ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่า "ส่วนตัวมองว่าการบล็อกไฮไฟว์เป็นการแก้ที่ปลายเหตุมากกว่าค่ะ ด้านดีของไฮไฟว์ก็คือเป็นชุมชนที่ทำให้คนมีเพื่อนได้มากขึ้น ถ้าไฮไฟว์ส่งผลถึงสังคม ก็น่าจะดูว่าเกิดขึ้นจากเหตุอะไร เพราะคนหรือเปล่าที่นำไปใช้งานในทางที่ผิด ถ้าอย่างนั้น แท้จริงแล้ว สังคมเรามีอะไรที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากกว่าไปบล็อกหรือเปล่า หรือผู้ใหญ่ควรจะสอนให้เยาวชนใช้เทคโนโลยีในทางที่เหมาะสมมากกว่าหรือเปล่า"


"จอยมองว่า การบล็อก เป็นแค่วิธีสะกัดกั้นที่เร็วที่สุด เป็นวิธีที่ใช้ได้แค่ชั่วคราว แต่ไม่สามารถใช้ได้เป็นการถาวร เพราะผู้ใช้คงหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อเข้าไปเล่นให้ได้อยู่ดี การแก้ที่ถาวรน่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าค่ะ"


ด้าน บอย - กฤษณะ ฉันท์สถิตย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การบล็อกเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ "จริง ๆ ไฮไฟว์ก็มีประโยชน์อยู่บ้าง ไม่ใช่มีโทษอย่างเดียว สิ่งหนึ่งที่สังคมทราบกันดีก็คือ เว็บในลักษณะดังกล่าวเป็นการสร้างเครือข่ายส่วนตัวที่ติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ต และคิดว่าคนที่ใช้ไปในทางไม่ดีนั้นน่าจะเป็นคนส่วนน้อย"


"ผมมองว่า เราก็ต้องยอมรับว่าในสังคมก็มีคนหลายแบบอยู่ร่วมกัน คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ก็มีส่วนหนึ่ง เราไม่ใช่สังคมอุดมคติ ที่มีแต่คนดีหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่แก้ยาก อยู่ที่จิตสำนึกของคนใช้มากกว่า ว่ามีพื้นฐานอย่างไร ทำไมถึงใช้งานเทคโนโลยีไปในทิศทางนั้น เพราะจริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีบนอินเทอร์เน็ตมีข้อดีมากมาย และสามารถช่วยให้งานของเราทำได้สะดวกสบายขึ้น น่าจะทำให้เขาเอาเวลาไปทำความรู้จักเทคโนโลยีเหล่านั้น ไม่ใช่เอาไปเล่นอะไรแย่ ๆ อย่างเดียว ผมว่า แค่กูเกิลเว็บเดียวก็มีของเล่นให้เล่นมากมาย ยกตัวอย่างเช่น กูเกิลคาร์เลนดาร์ ที่เรานำมาจัดตารางการทำงานได้ ฯลฯ"


สำหรับประเด็นปัญหาดังกล่าว นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวถึงกรณีพบการใช้งานเว็บไซต์ไฮไฟว์ (www.hi5.com) ในทางลามกอนาจาร ด้วยการเชิญชวนให้สมาชิกแลกเปลี่ยนคู่นอน หรือสวิงกิ้ง ว่า กระทรวงไอซีทีได้ทำหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงของเว็บไซต์ไฮไฟว์ ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อขอความร่วมมือให้ปิดกั้นหน้าเว็บไซต์ในส่วนดังกล่าวแล้ว และคาดว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดี เช่นเดียวกับกรณีที่มีพระไทยเข้ามาใช้เว็บไซต์ไฮไฟว์ติดต่อกับหญิงสาว ที่ทางเว็บไซต์ได้ปิดกั้นทันทีที่ได้รับหนังสือ อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับความร่วมมือจะขออำนาจศาลเพื่อปิดเว็บไซต์ไฮไฟว์เพื่อไม่ให้ใช้งานในประเทศไทยได้ และขณะนี้ได้สั่งจับตาการใช้งานเว็บไซต์ไฮไฟว์อย่างใกล้ชิดแล้ว


ส่วนการเอาผิดกับผู้ดำเนินการในเว็บไซต์ไฮไฟว์ นายธานีรัตน์ กล่าวว่า ได้ให้สำนักงานกำกับการใช้เทคโนโลยี กระทรวงไอซีที ไปศึกษาว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหรือไม่ คาดว่าจะรู้ผลภายใน 1-2 วัน หากพบว่ามีความผิด กระทรวงไอซีทีจะดำเนินการโดยทันที นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว จะเชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมาหารือแนวทางในการเลือกเว็บไซต์ที่ดีเข้ามาให้บริการในไทยต่อไปด้วย


ป้ายกำกับ: ,