28 เมษายน 2551

 

"อินเทอร์เน็ต" เหรียญ 2 ด้าน ถ้าใช้ผิดบ่มเพาะยุวอาชญากร



ช่วงเวลาที่โลกกำลังเชื่อมเข้าหากันผ่าน "อินเทอร์เน็ต" ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงคุณประโยชน์มหาศาลเท่านั้น



แต่ยังพ่วงมาด้วย "โทษมหันต์" หากใช้ไม่ถูกทางอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวด้านลบตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้งอย่างเช่น แคมฟร็อก คลิปวิดีโป๊ และเกมออนไลน์ประเภทสู้กันดุเดือดจนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ



ผู้ใหญ่ "ระดมสมอง" หาทางออก



ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ บนเวทีเสวนาการรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นโต้โผนำทัพนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมกันหารือถึง "จุดบอด" ของสังคมออนไลน์วันนี้คือ ความพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กติดเกม



รวมถึงการเสพสื่อสมัยใหม่อย่างไร้สติ สู่การเป็นผู้สร้างและพัฒนาต่อยอด จนสามารถช่วยยกระดับความก้าวหน้าให้อุตสาหกรรมไอซีทีไทยได้



ซาตานในคราบ"อินเทอร์เน็ต"



รศ.ดร. สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า "เยาวชนไทย 2 ใน 5 คนวันนี้มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นยุวอาชญากร ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 40% จากช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เด็กๆ เริ่มหันมาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกม และติดสื่อสมัยใหม่"



นอกจากนี้ เด็กเร่ร่อนที่กำลังเพิ่มจำนวนในปัจจุบัน ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมจากสังคมออนไลน์ เนื่องจากแหล่งมั่วสุมของเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่คือ "ร้านเกม" เพราะสามารถเล่นได้ทั้งวันทั้งคืน ในราคาที่ถูกมาก



"เด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่หาเงินได้ก็เอาไปเล่นเกม ขณะที่ร้านเกมบางร้านก็เป็นแหล่งแพร่ระบาดยาเสพติดในตัว เพราะเมื่อเด็กเล่นเกมเหนื่อยก็ต้องการสารกระตุ้น กลายเป็นติดทั้งเกม ติดทั้งยา เป็นต้นตอของปัญหาอาชญากรรมที่ต้องรีบแก้ไข"



นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของการถูกล่อลวงจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งเกิดจากการใช้โปรแกรมแชท การติดต่อสื่อสารผ่านเวบแคม รวมถึงการคุยผ่านแชทไลน์ (1900) ซึ่งข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในจำนวนสายแชทไลน์ทั้งหมด 22.3% เป็นสายแชทไลน์ที่แฝงด้วยจุดประสงค์ร้าย



เขายังยกงานวิจัยมายืนยันว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีเพียง 20% เท่านั้นที่ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการหาข้อมูล-ความรู้ ในขณะที่อีก 80% ที่เหลือถูกใช้ไปในแง่ของความบันเทิง เล่นเกมออนไลน์ รวมถึงการก่ออาชญกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต



อย่างไรก็ตาม งเสวนาต่างยอมรับว่า อินเทอร์เน็ตก็ยังมีด้านดีอยู่ไม่น้อย แต่มักไม่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นทางสังคม นั่นเพราะสิ่งที่เกิดจากภัยออนไลน์นั้นมีผลกระทบรุนแรง และควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน



กฎหมาย"อ่อนให้"หรือ"อ่อนแอ"



ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันกระทรวงไอซีทีจะมีโครงการป้องกัน และสกัดภัยออนไลน์หลากหลายรูปแบบ เช่น โครงการไซเบอร์คลีน เพื่อปิดกั้นเวบลามก อนาจาร โครงการเฝ้าระวังการใช้อินเทอร์เน็ตไม่เหมาะสม ตลอดจนโครงการอาสามัครเพื่อแจ้งเตือนภัยต่างๆ



ทั้งยังมีตัวบทกฎหมายที่กำหนดเป็นบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ไว้อย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนว่า ยังไม่เพียงพอต่อการไล่ตามภัยออนไลน์ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วยิ่งกว่า "ไวรัส" ที่ติดบนเครื่องคอมพิวเตอร์



นายวชิระ เพ่งผล ผู้อำนวยการ สำนักตรวจราชการ สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานสืบสวนเกี่ยวกับเยาวชน และสตรี ยอมรับว่า ขั้นตอนของกฎหมายยังเชื่องช้าเกินกว่าที่จะไล่ตามภัยออนไลน์ได้ทัน ในขณะที่จำนวนผู้ถูกล่อลวง และถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ไม่ถูกต้องกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที



"กฎหมายควบคุมการใช้เน็ตถูกเลื่อนบังคับใช้หลายรอบ เพราะให้อำนาจใช้บังคับไม่ทัน ทั้งปัญหาจากตัวเจ้าหน้าที่เอง และความไม่พร้อมของระบบการทำงาน ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้"



เขาระบุว่า ปัจจุบันหลังจากบังคับใช้กฎหมายห้ามมิให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่หลัง 22.00 น. และห้ามเด็กเล่นเกมต่อเนื่องกัน 3 ชั่วโมง รวมถึงการจัดระดับเกมที่เหมาะกับผู้เล่นในแต่ละวัย ส่งผลให้ยอดผู้กระทำผิดลดน้อยลง



ขัดแย้งกับมุมมองของนายศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายกสมาคมผู้ปกครอง โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเห็นว่า ปัญหาเด็กติดเกม รวมถึงการก่อคดีของเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่ถูกวิธี ซึ่งมักพบในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร



"คำตอบที่ได้จากเด็กๆ ส่วนใหญ่ที่เข้าไปเล่นในร้านเน็ตคือ พวกเขาไม่เคยกลัวกฎหมายถึงจะไม่ให้เล่นติดกัน 3 ชั่วโมง เด็กก็มีวิธีหลบเลี่ยงได้ เจ้าของร้านก็ไม่คุม ในขณะที่เจ้าหน้าที่บางรายก็ไม่เข้มงวดเท่าที่ควรทำให้กฎหมายกลายเป็นทฤษฎีที่ใช้ไม่ได้จริง"


ป้ายกำกับ: , , ,


บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv