25 มิถุนายน 2550

 

"ติดเกม" เป็นโรคชนิดใหม่ ?


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 มิถุนายน 2550 18:25 น.
ปัจจุบันวัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาเก็บตัวอยู่ในห้องมากขึ้น, เริ่มปฏิเสธการเข้ากลุ่มกับเพื่อนฝูง, ครอบครัว หรือแม้แต่การอาบน้ำและรับประทานอาหาร มีพฤติกรรมก้าวร้าว ในขณะเดียวกันผลการเรียนก็ตกต่ำลง และสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่ใช่เพราะแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด แต่จากการสำรวจกลับพบว่ามันคือ "วีดีโอเกม" ที่นายแพทย์หลายๆ คนได้ลงความเห็นว่ามันสามารถ ทำให้เด็กเกิดอาการเสพติดได้เช่นเดียวกับเฮโรอีน

สมาคมจิตเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Psychiatric Association) ได้จัดทำคู่มือเกี่ยวกับการบำบัดผู้ป่วยทางจิต ซึ่งนำข้อมูลมาจากรายงานการสำรวจผู้ป่วยประจำปีที่มีอาการทางจิตที่ "สมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา" (American Medical Association หรือ AMA) ได้ทำการรวบรวมไว้จากการสังเกตพฤติกรรมและการพบปะกับกลุ่มผู้ป่วย

Dr. James Scully นายแพทย์ผู้อำนวยการสมาคมจิตเวชศาสตร์ ได้กล่าวถึงคู่มือเกี่ยวกับการบำบัดผู้ป่วยทางจิต ที่ได้นำข้อมูลจากทาง AMA มาจัดทำ ซึ่งได้ตีพิมพิ์ไปเมื่อปี 1994 โดยแจ้งว่าขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงใหม่ และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2012

จากรายงานการสำรวจของ AMA พบว่า เด็กจะเริ่มเล่นวีดีโอเกมตั้งแต่อายุยังน้อย และ 90 เปอร์เซ็นต์ของเด็กชาวอเมริกันจะเล่นวีดีโอเกม ขณะที่ 15 เปอร์เซ็นต์ในนั้น (มากกว่า 5 ล้านคนโดยประมาณ) อาจจะตกอยู่ในภาวะติดเกม

คำบอกเล่าจากผู้ประสบปัญหา

Joyce Protopapas หนึ่งในผู้ประสบปัญหาจากเท็กซัส กล่าวว่า ไมเคิลลูกชายวัย 17 ปีของเธอ อยู่ในภาวะติดเกม ช่วง 2 ปีมานี้ วีดีโอเกมทำให้เขาไม่ยอมออกไปไหน จากเด็กที่เคยชอบการเรียนรู้ก็กลายเป็นคนเงียบขรึม สอบตกตอนเรียนเกรด 10 ถึง 2 ครั้ง และใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนหมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมยอดฮิตอย่าง "World of Warcraft"

Joyce กล่าวต่อไปว่า เรามีปากเสียงกันในเรื่องนี้มาตลอด จนถึงเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เขาถูกมันครอบงำจนสามารถสบถคำด่าต่างๆ ออกมาทุกอย่างเท่าที่เขาจะนึกขึ้นได้ จนในที่สุดครอบครัวของเธอ ได้พาเขาเข้าพบกับผู้ที่เชี่ยวชาญทางโรคนี้ และได้คำตอบว่า "ไมเคิลตกอยู่ในอาการป่วย" เราจึงส่งตัวเขาไปที่สถานบำบัด และใช้เวลารักษาอยู่ที่นั่นนานถึง 6 เดือน โดยเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 5,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเราต้องจ่ายเองเพราะกรณีนี้ไม่อยู่ในความคุ้มครองของประกันภัย

ดังนั้นแพทยสภาของสหรัฐอเมริกา จึงต้องการแบ่งประเภทของผู้ป่วยตามปัญหาพฤติกรรมที่พบอยู่ ออกเป็นแขนงตามหลักทางจิตเวช เพื่อยกระดับสิทธิและความชอบธรรมของผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจากประกันเมื่อต้องเข้าบำบัดรักษาตัว

แหล่งระบายปัญหาแห่งใหม่ของเกมเมอร์

กลุ่มผู้สนับสนุนที่เรียกตนเองว่า "On-Line Gamers Anonymous" ได้จัดทำเว็บไซต์ที่เปิดให้บรรดาเกมเมอร์ ที่ต้องการความช่วยเหลือได้มาโพสต์ข้อความไว้ เว็บไซต์นี้ได้จัดทำขึ้นโดย Liz Woolley เมื่อปี 2001 หลังจากที่ลูกชายวัย 21 ปีของเธอได้ชักปืนขึ้นมายิงตัวเองในขณะที่กำลังเล่นเกมออนไลน์ ซึ่งเธอบอกว่ามันได้ทำลายชีวิตของลูกชายเธอ

ข้อความที่ถูกโพสต์ไว้ที่เว็บไซต์นี้มีมาจากกลุ่มผู้เล่นเกมหลายๆ ช่วงอายุ ดูได้จากตัวอย่างข้อความจากเดือน ก.พ. ที่ถูกโพสต์โดยเด็กชายวัย 13 ปี ซึ่งมีข้อความว่า "เขาเล่นเกมติดต่อกันมานานถึง 12 ชั่วโมง เขาคิดว่าตัวเองติดเกมและมันทำให้รู้สึกกังวลจนอยากจะฆ่าตัวตาย เขาต้องการความช่วยเหลือ"

สำหรับสถิติของคนที่มาโพสต์ข้อความในเว็บไซต์นี้ มักจะอยู่ในวัยผู้ใหญ่ โดยส่วนมากมักจะเป็นผู้ชาย และปัญหาเดิมๆ ที่เห็นก็คือ การติดวีดีโอเกมทำให้พวกสูญเสียชีวิตครอบครัว, การงาน และขาดความน่าเชื่อถือ

หลากคน...หลายความคิด

จากการจัดอภิปรายเกี่ยวกับ ปัญหานี้ทำให้ได้ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ระหว่างผู้ผลิตวีดีโอเกม ที่รู้สึกตลกกับความเชื่อที่ว่าเกมของพวกเขา เป็นสาเหตุของปัญหาเหล่านี้ ส่วนผู้ที่เคยตกอยู่ในฐานะผู้ป่วยทางจิต และได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้วกลับเห็นว่า "พฤติกรรมการเสพติดวีดีโอเกมจะทำให้เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต"

เมื่อสอบถามความความคิดเห็นเรื่องนี้จากทาง บลิซซาร์ด เอนเตอร์เทนเมนท์ ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ชื่อดัง "World of Warcraft" ทางบริษัทกลับปฏิเสธไม่ขอออกความเห็นใดๆ เกี่ยวกับกรณีที่มีคนกล่าวว่าเกม เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เล่นเกิดอาการป่วยทางจิต

Dr. Martin Wasserman แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเด็ก ผู้นำสมาคมทางการแพทย์แห่งรัฐแมรี่ แลนด์ กล่าวว่า โครงการของ AMA เป็นการช่วยยกระดับสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งถือได้ว่าเป็น "สิ่งถูกต้องที่ควรจะกระทำ"

ส่วนทางด้าน Michael Gallagher ประธานสมาคมการค้าคอมพิวเตอร์และอุตสาหกรรมวีดีโอเกม (Entertainment Software Association) กล่าวว่าสมาคมของตนเห็นด้วยกับจิตแพทย์ผู้ซึ่งมีความคิดเห็นว่า "อาการเสพติดวิดีโอเกม ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจ" และกล่าวต่อว่า ทาง AMA นั้นด่วนให้ข้อสรุปในเรื่องนี้เร็วเกินไปทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิจารณาถึงประโยชน์และข้อมูลในด้านอื่นๆ ให้ครบถ้วน

Dr. Karen Pierce จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลเด็ก Memorial Hospital ของชิคาโก้ กล่าวว่า เธอได้สังเกตดูพฤติกรรมการเล่นเกมของเด็ก 2 คนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเด็กทั้งคู่ใช้เวลาในการเล่นเกมมากเกินไป เห็นบางคนไม่ยอมเข้านอน ไม่ยอมอาบน้ำ ก็เพราะวีดีโอเกม และชี้แจงเสริมว่า โรคนี้สามารถรักษาได้เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ และคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแยกประเภทผู้ป่วยพวกนี้

Dr. Michael Brody ผู้นำคณะกรรมการฝ่ายโทรทัศน์และสื่อของบริษัท American Academy of Child and Adolescent Psychiatry ได้กล่าวชมเชยทาง AMA ที่นำเสนอข้อมูลและใส่ใจกับปัญหานี้ พร้อมกล่าวเสริมด้วยว่า การที่เด็กเล่นวีดีโอเกมมากจนเกินความจำเป็น จะนำมาซึ่งปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ เช่น สภาวะวิตกกังวล, เศร้าซึม และนั่นก็ทำให้วินิจฉัยได้ว่าพวกเขาป่วย

ข้อมูลและภาพประกอบจาก
www.gameinvasion.comcast.net
www.news.yahoo.com

20 มิถุนายน 2550

 

ผู้ดีทลายแก๊ง ล่อเด็กข่มขืนระบาดโลกเน็ต

ที่มาข่าวจาก POST TODAY 19 มิย 50


ลอนดอน (เอพี/สำนักข่าวตปท.) — อังกฤษเปิดโปงวงจรอุบาทว์กลุ่มผู้ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็กทั่วโลก เผยช่วยเด็กได้ถึง 31 ราย ขณะที่รวบรวมผู้ต้องสงสัยได้กว่า 700 ราย

ศูนย์พิทักษ์เยาวชนบนอินเทอร์เน็ตและป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากเยาวชน (ซีอีโอพี) เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ว่า พบเครือข่ายระดับโลกของกลุ่มผู้ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก ในอินเทอร์เน็ต โดยสามารถรวบรวมผู้ต้องสงสัยได้ 700 ราย พร้อมระบุด้วยว่าผู้ต้องสงสัยราว 200 ราย อาศัยอยู่ในอังกฤษ

ทั้งนี้ วงจรอุบาทว์ดังกล่าวถูกตามสืบไปยังห้องสนทนาในอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า “คิดส์ เดอะ ไลต์ ออฟ อาวร์ ไลฟ์” (เด็กคือแสงสว่างของชีวิตเรา) ซึ่งมีการอัพโหลดรูปของเยาวชนที่กำลังถูกละเมิดทางเพศอย่างเลวร้ายไว้จำนวนมาก

รายงานระบุว่า ตำรวจสามารถช่วยเหลือเด็กและเยาวชนจำนวน 31 คนไว้ได้จากขบวนการหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชน โดยบางคนมีอายุเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น และเยาวชนมากกว่า 15 คนเป็นชาวอังกฤษ

การสืบสวนในครั้งนี้ อังกฤษได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จาก 35 ประเทศ และได้ดำเนินการสืบสวนมานานถึง 10 เดือนแล้ว

เจ้าหน้าที่ระบุว่า เจ้าของห้องสนทนาดังกล่าวมีชื่อว่า ทิโมที เดวิด มาร์ติน คอกซ์ วัย 27 ปี อาศัยอยู่ที่เมืองบักซ์ฮอลล์ ในอังกฤษ และใช้ชื่อออนไลน์ว่า “ซัน ออฟ ก๊อด” (บุตรชายแห่งพระเจ้า) ยอมรับว่าเป็นเจ้าของรูปที่อยู่ในห้องสนทนาดังกล่าว

หลังการจับกุมคอกซ์ในเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถแทรกซึมเข้าไปในห้องสนทนาดังกล่าว และรวบรวมหลักฐานของสมาชิกรายอื่นๆ ของห้องสนทนาดังกล่าวไว้ได้

รายงานจากสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส ระบุว่า แม้ซีอีโอพีจะเป็นผู้เปิดเผยการจับกุมดังกล่าว ทว่าเป็นกลุ่มปฏิบัติการโลกเสมือนจริง (วีจีที) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากประเทศต่างๆ หลายแห่ง ที่ร่วมมือกันจนกระทั่งเปิดโปงขบวนการดังกล่าวได้

07 มิถุนายน 2550

 

แฉ! เด็กไทยเรียนเรื่องเพศผ่านสื่อลามก 100 เปอร์เซ็นต์


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 4 มิถุนายน 2550 15:49 น.


“ไพบูลย์” เดินหน้าแผนแม่บทเบิกทางสื่อสร้างสรรค์ หนุนตั้งหน่วยงานถาวรใต้ปีก สปน. “ไขศรี” แฉวัยรุ่นเรียนเรื่องเพศผ่านสื่อลามก เกือบ 100% ยันมีเซ็กซ์ก่อนวัยอันควรเพราะสื่อ ด้าน รมช.พัฒนาสังคมฯ เผยเห็นคาตาสาวแก้ผ้าเล่นสงกรานต์ ศธ.ฮึดจัดหลักสูตรสู้ภัยอินเทอร์เน็ต





ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการ“ประชุมสัมมนาระดับชาติเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คนจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม

คุณหญิงไขศรี ศรีอุรณ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า การวิจัยของเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง “ค วามคิดเห็นต่อสื่อลามก:กรณีศึกษาประชาชนอายุระหว่าง 15-60 ปี ในเขตกทม.” เมื่อวันที่ 3-7 พ.ค.2550 พบว่า 47.5% ติดตามสื่อลามกเมื่ออายุ 15-17 ปี ซึ่ง 33.8 บอกว่า อยากรู้อยากลองเรื่องเพศ โดย 92% ระบุว่าสื่อลามกทำให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และกว่า 87.6% บอกว่าสื่อลามกส่งเสริมการคุกคามหรือล่วงเกินทางเพศ ขณะที่ 76.5% เห็นภาพหรือการแสดงที่ไม่เหมาะสมทางเพศ โดยใช้การอินเตอร์เน็ต ส่วนอีก 72.4% เห็นจากการดูวิดีโอ/วีซีดี นอกจากนี้ 68.2% ยังบอกว่าสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นสื่อทางเพศที่เป็นปัญหาต่อเยาวชนสูงที่สุด

“ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ก็มีภาพยั่วยุ อนาจารเพิ่มมากขึ้น 65% เห็นว่ามีการเสนอภาพกระตุ้นเรื่องเพศในนิตยสารแฟชั่นมากเกินไป โดย 64.1% บอกว่า ไม่ควรมีโฆษณาโหลดภาพลามก วาบหวิว ในนิตยสาร หรือสิ่งสิ่งพิมพ์ ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและการสร้างวัฒนธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนถือเป็นมาตรการที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันแก้ไขปัญหา โดยต้องพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กฉลาดเลือกรับสื่อและรู้เท่าทันสื่อเหล่านั้น” คุณหญิงไขศรี

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สื่อยั่วยุมีผลต่อพฤติกรรมการเลียนแบบของวัยรุ่น ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ตนไปเยี่ยมบ้านที่ จ.พิษณุโลก เห็นกับตาว่ามีผู้หญิงแก้ผ้าเล่นน้ำ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีพลังทางสังคมช่วยกันแก้ปัญหาและแจ้งเตือน ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้สื่อ เนื่องจากสื่อใดก็ตามที่เป็นพิษต่อเด็กย่อมเป็นภัยต่อสังคมด้วย

ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ภายใน 6 เดือนนี้ จะดำเนินการใน 5 ด้าน ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ เน้นเรื่องของอินเตอร์เน็ต คือ 1.จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันอันตรายในโลกอินเทอร์เน็ต และให้เด็กร่วมโหวต 100 เว็บไซต์ที่ดีที่สุดในโลก 2.ประกวดทำสื่อสร้างสรรค์ โดยให้ครู และผู้ปกครองร่วมประกวดด้วย 3.ทุกสถานศึกษาต้องมีระบบป้องกันเว็บไซด์ไม่เหมาะสมอย่างน้อย 1 ระบบ 4.สร้างเครือข่ายครู ผู้ปกครอง สร้างระบบ 5.การดูแลเด็กให้พ้นจากสื่อไม่เหมาะสมจะต้องอยู่ในระบบการประกันคุณภาพสถานศึกษา

นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สื่อสาธารณะเป็นเรื่องใหญ่ของทุกสังคม มีอิทธิพลต่อทิศทางการเคลื่อนตัวและพฤติกรรมของคนในสังคม และจะมีอิทธิพลอย่างมากเพราะสังคมไทยพบความถดถอยของสถาบันครอบครัว ขณะที่กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการดูแลสื่อก็ไม่เป็นระบบ ขาดมาตรฐาน ซึ่งตนในฐานะประธานอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายจะดำเนินการในเรื่องนี้

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ผลสำรวจสะท้อนว่า สื่อที่ไม่เหมาะสมได้แพร่ระบาดไปทั่วสังคมไทย และเข้าถึงเด็กและเยาวชนที่มีอยู่กว่า 25 ล้านคนในประเทศ ซึ่งการระดมสมองครั้งนี้มีบทบาทสำคัญ ในการสร้างสื่อปลอดภัยเพื่อพัฒนาเยาวชน ซึ่งอาจนำไปสู่การทำแผนแม่บทของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงวางแนวทางระยะยาวขึ้นมาเป็นกลไกของสังคม แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนไป แต่ก็ขอให้รัฐบาลหน้ามาสานต่อ โดยจะเสนอให้คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นสำนักงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี