20 ธันวาคม 2549

 

รวมพลังพิฆาต 4 ภัยร้ายในโลกไซเบอร์

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 ธันวาคม 2549 08:32 น.
สังคมปัจจุบันนี้มีภัยต่างๆที่แฝงตัวอยู่ทุกส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นภัยการถูกแอบถ่ายรูป หรือภัยจากการลักลอบโอนเงินจากธนาคาร เป็นต้น และนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในโลก “ไซเบอร์” อย่างอินเทอร์เน็ต ที่เข้ามาพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี จนอยากที่จะหาทางแก้ไขได้ และที่สำคัญภัยในโลกไซเบอร์นั้นมีความน่ากลัวมากกว่าโจรผู้ร้ายหรืออาชญากรอีกเป็นเท่าตัว เพราะมันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ไม่เว้น แม้แต่ในห้องนอนของเราเอง ภัยในโลก “ไซเบอร์” ทุกวันนี้ได้ผุดขึ้นมาคุกคามประชาชนอย่างมากมาย โดยเฉพาะกับเยาวชนที่มักจะเป็นเป้าหมายของการถูกทำร้ายในโลกไซเบอร์ เพราะเยาวชนทุกวันนี้มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอคอมพิวเทอร์เพียงลำพัง โดยปราศจากการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง ดังนั้น การก่อกำเนิดของ “อาสาสมัครแจ้งเตือนภัยออนไลน์” จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่ เกิดขึ้น ก่อนจะลงไปถึงรายละเอียดของโครงการคงต้องไปค้นหากันว่า ปัจจุบัน ภัยร้ายในโลกไซเบอร์นั้น มีอะไรกันบ้าง และแต่ละภัยมีความพิเศษที่ตรงไหน พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน แห่งสำนักคดีเทคโนโลยี และสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ให้ข้อมูลว่า ภัยในโลกไซเบอร์ที่สำคัญมี 4 เรื่องด้วยกันคือ

1.พิชชิ่ง(Pifishing) คือการเลียนแบบทำเหมือนต้นฉบับทุกประการ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ส่วนใหญ่อาชญากรจะใช้ในการทำธุรกรรมทางด้านการเงิน อย่างเช่น การฝากเงิน การถอน หรือการโอนเงิน ด้วยการตั้งเว็บไซต์ขึ้นมาเหมือนกับธนาคารทุกประการและหลังจากนั้นจะมีการหลอกผู้ที่เข้าไปใช้บริการเพื่อเอารหัสบัญชีแล้วนำไปทำธุรกรรมอย่างอื่น

2.ภัยจากบัตรเครดิต ซึ่งเป็นภัยของพวกนักชอปหรือผู้ที่ไม่ต้องการพกเงินสดติดตัวเป็นจำนวนมากก็จะใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าต่างๆ แต่ใครจะรู้ว่าถึงเวลาชำระค่าบัตรกลับมีตัวเลขที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นอย่างมากโขทั้งๆที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งวิธีการที่พวกมิจฉาชีพมักจะหาประโยชน์จากบัตรเครดิตคือ ทุกครั้งที่มีการรูดบัตรตัวเครื่องก็จะทำการอ่านบัตรและเชื่อมต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตร แต่ระหว่างที่มีการติดต่อกันระหว่างเครื่องรูดบัตรกับธนาคาร พวกมิจฉาชีพก็ได้นำเครื่องเล่น MP3 ไปไว้เพื่อดักฟังข้อมูล

]3.ภัยจากเว็บแคม ถือได้ว่าเป็นภัยที่นับวันจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะกับเด็กวัยรุ่น เพราะมิจฉาชีพจะติดกล้องไว้ที่ตัวคอมพิวเทอร์เพื่อดูพฤติกรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง และเว็บแคมทุกวันนี้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นถึงขั้นลามกอนาจารก็ว่าได้

4.ภัยทางอินเทอร์เน็ต เพราะมีการเผยแพร่ สิ่งพิมพ์ รูปภาพ หรือโฆษณาวัตถุลามก อนาจาร ผิดกฎหมาย หมิ่นประมาท ยุยงก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม

“ภัยบนโลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้มีหลายรูปแบบที่เพิ่มมากขึ้น ในอดีตเราวางของไว้ในบ้านของเราของก็คงจะไม่หาย แต่ปัจจุบันนี้เราไม่สามารถนำของวางไว้ไกลตัวได้เลย เพราะภัยในโลกไซเบอร์มันสามารถเข้าถึงตัวเราได้อยู่ตลอดเวลาและเกิดได้ทุกที่ด้วย ถ้าเราไม่ป้องกันมัน”

“แต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำและอยาก จะขอความร่วมมือมากที่สุดคือโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านไอที ควรจะสอนวิธีป้องกันภัยทางคอมพิวเทอร์ด้วย ไม่ใช่สอนเพียงแค่วิธีใช้งานเพียงอย่างเดียว เพราะไม่เช่นนั้นแล้วโศกนาฏกรรมทางคอมพิวเทอร์ในโลกไซเบอร์ก็คงจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก” พ.ต.อ.ญาณพลแจกแจง

ด้านดร.ธงชัย โรจน์กังสดาล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเทอร์และเครือข่าย ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเทอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานที่ปรึกษากระทรงไอซีที อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนี้ภัยไซเบอร์เข้าถึงห้องนอนของเด็กๆ แล้วหากผู้ใหญ่ยังตามไม่ทัน ไม่ให้ความสำคัญกับการต่ออินเทอร์เน็ตที่บ้านก็เท่ากับเป็นการเปิดประตูเชื้อเชิญคนร้ายให้เข้ามาในบ้าน

“สมัยก่อนเราห่วงเด็กๆ จะแชตกับคนแปลกหน้า แต่ขณะนี้ในห้องแชตติดกล้องเว็บแคมที่มีคนอยู่หลายร้อยจนหลายพันคน ซึ่งแต่ละคนก็จะถ่ายทอดภาพของตัวเองออกมา และสมัยนี้มีเว็บบล็อก เป็นพื้นที่ว่างบนอินเทอร์เน็ต ที่เปิดให้ใส่ทั้งรูปภาพ เขียนข้อความไว้เป็นไดอารี่ ใครก็เข้ามาอ่านได้ คนร้ายมักจะใช้ข้อมูลตรงนี้ไปดักพบล่อลวงเด็กได้เลย ความเจริญของเทคโนโลยีหากใช้อย่างไม่ระวัง ก็เกิดโทษได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม ต้องตามมันให้ทัน”ดร.ธงชัยแจกแจง

ส่วนมณีรัตน์ ผลิพัฒน์ รองปลัดกระทวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสริมว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มีความรู้ในระดับการใช้งาน แต่ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องของพิษภัยและการระวังรักษาความปลอดภัย ดังนั้นโปรแกรมอันตรายหรือมิจฉาชีพก็จะพุ่งเป้าการโจมตีที่ตัวบุคคลหรือผู้ใช้ทั่วไป โดยเฉพาะมือใหม่ ดังนั้น คนจึงคือจุดอ่อนที่เปราะบางที่สุดของระบบ ที่สามารถทำให้ระบบซึ่งคิดว่าปลอดภัยดีอยู่แล้วเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะเสี่ยงภัยได้ทันที

“ภัยอินเทอร์เน็ตเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องได้รับการป้องกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงอาสาสมัครภาคประชาชนที่พอจะมีความรู้ความสามารถความตั้งใจจะเข้ามาช่วยเหลืองานเพื่อสังคม”

ทีนี้ ก็มาถึงบรรดาอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยออนไลน์ที่มีตัวแทนของ อาจารย์ นักเรียนและผู้ปกครอง เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และจากการสอบถามถึงเหตุผลที่เข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครในครั้งนี้ว่ามีความรู้สึกอย่างไร

กนกอร สมโภชน์ นักเรียนจากโรงเรียนพิชยะศึกษา เล่าถึงความรู้สึกที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยออนไลน์ว่า คิดว่าจะต้องนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมกลับไปบอกกับเพื่อน และน้องๆในโรงเรียนว่าเราควรจะมีสติในการกลั่นกรองการเข้าใช้บริการทางอินเทอร์เน็ตให้มากกว่าเดิม เพราะบางครั้งทางเว็บไซต์ก็มีแต่เรื่องที่ไม่ดีถ้าไม่ใช้สติในการเข้าใช้งานก็อาจจะแย่ได้

ด้านวิชชุอร ไชยลังกา นักเรียนจากโรงเรียนเสนานิคม เล่าว่า ครั้งแรกที่อาจารย์ติดต่อให้มาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยออนไลน์ก็รู้สึกประทับใจ อย่างน้อยเราก็จะเอาความรู้ที่ได้รับจากงานวันนี้ไปบอกกับคนในโรงเรียนต่อไป เพราะเดี๋ยวนี้ข้อความที่มีบนเว็บไซต์บางครั้งก็จะเป็นข้อความที่ไม่สมควรและมีการใช้ที่ผิดรูปแบบทำให้จิตสำนึกการใช้ภาษาไทยของเด็กๆก็เปลี่ยนไปด้วย

วิธีการป้องกันตัว 7 ประการสำหรับเยาวชน
1.ไม่บอกข้อมูลส่วนตัว เช่นชื่อนามสกุล ที่อยู่เบอร์โทรศัพท์ รูปภาพ ชื่อโรงเรียน ที่ทำงาน หรือเบอร์ที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง
2.ต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบทันทีหากพบข้อมูลหรือรูปภาพใดๆ บนอินเทอร์เน็ตที่หยาบคายหรือไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
3.จะไม่ไปพบบุคคลใดก็ตามที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่ขออนุญาต จากผู้ปกครองก่อน ถ้าไปพบต้องพบกันในที่สาธารณที่มีคนเดินผ่านไปมา โดยมีผู้ปกครองไปด้วย
4.ต้องไม่ส่งรูป หรือสิ่งของใดๆ ให้แก่ผู้อื่น ที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต โดยมิได้ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน
5.จะไม่ตอบคำถามหรือต่อความกับผู้ที่สื่อข้อความหยาบคาย
6.ต้องเคารพข้อตกลงอื่นที่ให้ไว้กับผู้ปกครองอย่างเคร่งครัด
และ7.จะต้องไม่พยายามหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ทั้งหมดข้างต้น ไม่ว่าในกรณีใด


วิธีป้องกันตัว 4 ประการสำหรับผู้ปกครอง
1.ผู้ปกครองจะต้องใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ต ด้วยกันกับบุตรหลาน เพื่อที่จะได้รับรู้ว่าเขาใช้อินเทอร์เน็ตไปในทางใด และสนใจในเรื่องใด
2.จะต้องสอนให้บุตรหลานรู้ถึงศิลปะการป้องกันตัว ทั้ง 7 ประการสำหรับเยาวชนที่ใช้อินเทอร์เน็ต
3.ต้องทำความเข้าใจกับบุตรหลาน เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต เช่นเงื่อนไขและเวลาที่ใช้ในการเล่นเป็นต้น
และ4.จะต้องวางคอมพิวเทอร์ ที่บุตรหลานใช้ไว้ในที่เปิดเผย