22 พฤษภาคม 2549

 

เตือน พ่อแม่ระวังแชทมหาภัย วิกฤติสังคมทำลายครอบครัว


เครือข่ายผู้ปกครองออนไลน์ เตือนพ่อแม่ ระวังแชทมหาภัย วิกฤติสังคม ทำลายครอบครัว ชี้เกมช่องทางใหม่อาชญากรใช้ล่วงเด็ก เร่งผู้ปกครองรู้เท่าทัน ก่อนเสียลูกไปตลอดกาล สสส.ทำคู่มือการใช้อินเตอร์เน็ตปลอดภัย พร้อมเปิดอบรมนักเรียน ครู สู้ภัยเน็ต

นางศรีดา ตันทะอธิพานิช หัวหน้าโครงการพัฒนา เครือข่ายผู้ปกครองออนไลน์ หรือ (cyber parent) กล่าวว่า กรณีเด็กหญิงวัย 12 ปี ถูกหนุ่มโรงงานที่รู้จักกันผ่านการสนทนาทางอินเตอร์เน็ต ล่อลวงไปข่มขืน หรือครูสาวนัดพบชาวต่างชาติ ที่รู้จักกันผ่านอินเตอร์เน็ต แล้วถูกฆ่าหั่นศพ สะท้อนชัดว่าอาชญากรรมจากคนแปลกหน้าทางอินเตอร์เน็ต เป็นวิกฤติของสังคมไทย หลายเหตุการณ์รุนแรง สะเทือนใจ ไม่ได้ปรากฏเป็นข่าว ผลวิจัยระบุว่าเด็ก 80% เคยคุยกับคนแปลกหน้าผ่านเน็ต และบางส่วนจะนัดพบกัน เครือข่ายผู้ปกครองออนไลน์ ที่มีสมาชิกกว่า 1,000 ครอบครัว ได้หาทางแก้โดยพบว่า ทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ หลายครอบครัวเจอปัญหาลูกๆ เล่น เอ็มเอสเอ็น แชทรูม กับคนแปลกหน้า แล้วนัดไปเจอกัน บางครอบครัวพ่อแม่แอบเข้าไปดูการสนทนาของลูก แล้วรู้ว่านัดไปที่ไหน ก็ห้ามไม่ให้ไป แต่ลูกไม่เชื่อ สุดท้ายต้องขอไปด้วย

“ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเคราะห์ร้าย แต่เด็กๆ มักคิดว่าเราคงไม่ใช่คนๆ นั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรให้ความสำคัญ พูดคุยกับลูกเรื่องนี้ เรียนรู้ที่จะใช้อินเตอร์เน็ต รู้ให้เท่าทันว่าลูกของเราทำอะไร ดีกว่ารู้เมื่อสาย แล้วต้องเสียลูกไปตลอดกาล นอกจากการสนทนาผ่านเน็ต ที่อาจนำความอันตรายมาสู่พวกเขา การเล่นเกมส์ก็กลายเป็นช่องทาง ที่อาชญากรใช้เข้าหาเด็กๆ เพราะเด็กบางคนอาจเคลือบแคลงที่จะคุยหรือพบกับคนที่รู้จักทางเน็ต แต่ถ้าเจอกันในเกม ได้ต่อสู้ร่วมกันในเกม เขาจะรู้สึกว่านี่คือเพื่อน ทำให้ไว้ใจ จากเพื่อนในเกมก็กลายเป็นเพื่อนที่มานัดเจอกัน ถ้าเป็นเด็กผู้ชาย การละเมิดทางเพศอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่จะถูกหลอกเอาเงิน หรือปล้นแล้วทำร้ายร่างกาย จึงขอให้พ่อแม่ระวังภัยในเรื่องนี้ด้วย” นางศรีดา กล่าว

นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้จัดการ แผนการสื่อสารและ เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ภัยอินเตอร์เน็ตที่ของวัยรุ่นนั้น มีมากขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มเหมือนกันทั่วโลก ทั้ง ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ทั้งความรุนแรงข่มขืน หรือนัดกันไปฆ่าตัวตายผ่านเว็บไซต์ ทาง สสส. จึงร่วมกับภาคีความร่วมมือ เพื่ออินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้พัฒนาความรู้ และวิธีการดูแลเด็ก ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยอินเตอร์เน็ต จัดทำคู่มือการใช้อินเตอร์เน็ตปลอดภัย โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการอบรมครู และนักเรียนไปแล้ว 12 โรงเรียน ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดได้ท ี่เว็บไซต์ของ สสส. (www.thaihealth.or.th) หรือขอเข้าร่วมโครงการได้ที่ 0-2 938-1800 ติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายอินเตอร์เน็ตปลอดภัย

www.saijai.net โทร.0-2886-9991
ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. www.thaihealth.or.th

18 พฤษภาคม 2549

 

คนรอบข้างต้องใส่ใจ วิธีป้องกันภัยอินเตอร์เน็ต




ณ ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้โลกไร้พรมแดน อย่าง “อินเตอร์เน็ต” นำความสะดวกสบาย และประโยชน์มามากมายสู่มนุษย์ อาทิ การประชุมที่ไม่ต้องเดินทางไปถึงสถานที่นั้นๆ เพียงมีระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็สามารถประชุมได้แล้ว หรือจะเป็นเรื่องของความรวดเร็วในการก้าวทันโลกยุคข่าวสาร เพียงแค่ใช้ปลายนิ้วคลิกเข้าเว็บไซต์ก็สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ รวมถึงความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อของ ก็สามารถทำธุรกรรมผ่านตลาดออนไลน์ในโลกไซเบอร์ได้

“แชท” หรือ ระบบสนทนาผ่านแป้นพิมพ์ คืออีกหนึ่งความสามารถของอินเตอร์เน็ต และเป็นที่นิยมอย่างมากจนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน ภัยที่เกิดจากอินเตอร์เน็ตมีเกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับวิทยาการอันก้าวล้ำเช่นกัน

ตัวอย่าง คดีฆ่าหั่นศพหญิงสาว ด้วยน้ำมือฆาตรกรหนุ่มจากปากีสถาน ซึ่งทั้งสองรู้จักกันผ่านการแชท และกรณีเช่นนี้หาได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นการล่อลวงไปข่มขืน จากเหตุที่เกิดขึ้น ทำเอาบางกลุ่มชนในสังคมไม่อยากให้มีระบบอินเตอร์เน็ตกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะผู้ใหญ่ซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบ

อย่าง “นางสมหมาย เรืองจรูญ” อาชีพค้าขาย เจ้าตัวกล่าวว่า เธอมีลูกสาวชอบเล่นอินเตอร์เน็ตทุกวัน และตัวเธอเองไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวเลย

“เรามีเพียงปัญญาหาเงินให้ได้มากที่สุดเพื่อลูกเท่านั้น เขาอยากได้อะไรก็หาให้ อะไรที่สนับสนุนการศึกษาเขา เพื่อทำให้เขาได้เรียนได้อย่างเต็มที่ ก็ยินดีที่จะหามาให้ลูก”

“คอมพิวเตอร์ก็เป็นของที่เราหาให้เขา จ่ายค่าอินเตอร์เน็ตให้ทุกเดือน ไอ้การที่เขาจะนำไปเล่นแบบที่เกิดปัญหาอย่างในข่าว เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้และก็ไม่มีทางรู้ได้เลย นี่ก็เพิ่งรู้ว่ามันมีอย่างนี้ด้วย มีการหาคู่ของวัยรุ่นทางอินเตอร์เน็ตด้วย พอรู้ก็ตกใจเหมือนกัน

ใจเราก็ไม่อยากให้เขาไปเล่นเลย แต่ก็ห้ามไม่ได้ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอย่างนี่เราก็หามาให้เขาได้ใช้ แต่เมื่อมันเป็นดาบสองคม อันนี้ก็จนปัญญา ก็หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่นั่นแหละ ห่วงเขา คงต้องขึ้นอยู่กับลูกว่าเขาจะเลือกอย่างไร เราเลี้ยงเขาได้แค่ตัว ทำได้แค่ดูแลส่งเสีย และก็เป็นห่วงในสภาพสังคมร้ายๆ ที่มีอยู่ทุกวันนี้ ไม่อยากให้อะไรที่มันไม่ดีเกิดกับลูกเรา”

นั่นคือความรู้สึกจากปากของผู้ปกครองซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอินเตอร์เน็ต มีเพียงสิ่งเดียวก็คือห่วงความปลอดภัยของบุตรหลาน ในขณะที่ตัวของนักศึกษา ที่มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยอย่างที่ว่าบอก ภัยที่เกิดขึ้นจากการแชทเป็นเรื่องที่ป้องกันได้

“โบ ณัฐรินีย์ พาทีไพเราะ” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่คิดเช่นนั้น

โดยโบกล่าวว่าทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักศึกษา อย่างในเรื่องของการค้นคว้าหาข้อมูล

“โบเป็นคนหนึ่งที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำทั้งใช้ทำงาน หรืออยากรู้อะไรก็เข้าไปค้นหาดู แล้วก็ใช้แชทกับเพื่อน โบคิดว่ามันไม่เปลืองเงินค่าโทรศัพท์ดีออก ขณะเดียวกันมันก็เป็นดาบสองคมจริงๆ ก็ตามข่าวที่ออกมานั่นล่ะเวลาโบแชทกับคนที่ไม่รู้จัก ไม่เคยเจอตัวจริง ก็จะมีขอบเขตของตัวเอง คือเราไม่มีทางรู้ว่าคนที่เราแชทด้วยนิสัยเป็นอย่างไร คือการแชทจะพิมพ์ข้อความอะไรก็ได้ โดยที่ไม่มีอะไรบ่งบอกได้ว่าคนคนนั้นนิสัยใจคอเป็นอย่างไร ทางที่ดีที่สุด เราต้องป้องกันตัวเอง เวลาแชทก็เอาแค่แลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติกันเท่านั้น”

นอกจากนี้ โบยังให้ความเห็นว่าคนที่ชอบแชทกับคนที่ไม่รู้จักเป็นเวลานาน และชอบที่จะแชทกับคนที่ไม่รู้จัก หลายๆ คน น่าจะเป็นคนขี้เหงา ก็เลยรู้สึกดีกับการสนทนาผ่านทางคอมพิวเตอร์

“คนที่เป็นอย่างนั้น คนรอบข้างนี่ล่ะสำคัญต้องช่วยกัน ช่วยกันดูแลวิธีนี้น่าจะเป็นการป้องกันที่ดี เพื่อไม่เปิดช่องทางให้เกิดอาชญากรรมอย่างที่เกิดขึ้น อย่างโบเอง คุณแม่คอยเตือนและดูแล ยิ่งพอเห็นข่าวในทีวีว่าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้นะ เพราะอินเตอร์เน็ต คุณแม่ก็เข้ามาเตือนและสอนประจำเลยค่ะ”

www.saijai.net โทร.0-2886-9991
ที่มาข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์ 16 พฤษภาคม 2549 12:12 น.

15 พฤษภาคม 2549

 

เตือน‘พ่อ-แม่’รู้ทันภัยแชต

กรมสุขภาพจิต
เตือน‘พ่อ-แม่’รู้ทันภัยแชต
โพสต์ทูเดย์ — จิตแพทย์เตือนสาวนักแชต อย่าเคลิ้มกับการหลอกลวงในโลกไซเบอร์ เป็นการ สร้างจินตนาการให้หลงเชื่อ-วางใจจนนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การแชต หรือการสนทนาทางอินเทอร์เน็ตจนเกิดเหตุการ ฆาตกรรมขึ้นภายหลังการนัดพบกัน เนื่องจากคู่สนทนาฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นดังที่วาดภาพไว้ ซึ่งในความเป็นจริงการสื่อสารด้วยการแชตนั้นจะไม่เห็นหน้าตา แต่ให้ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ โดยเฉพาะ ผู้หญิงที่มีโอกาสน้อยในการสร้างสัมพันธภาพกับเพศตรงข้ามจะชอบ เพราะในโลกไซเบอร์มีการใช้ภาษาหวานๆ ในการเกี้ยวพาราสีกัน

“คนที่อ่อนไหวจะปักใจเชื่อว่าเขารัก คนที่ไม่คุ้นเคยกับโลกไซเบอร์จะเชื่อว่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่แชตกันเป็นจริง ซึ่งความจริงไม่ใช่ ข้อมูลที่ คุยกันส่วนใหญ่มักเป็นเท็จ มีการใช้ชื่อปลอม สร้างภาพให้ตัวเอง ใช้ภาษาสุภาพทั้งที่ตัวเองหยาบคาย สกปรก เป็นการสร้างจินตนาการตามที่เราอยากเป็น ตามที่เราชอบ ภาษาเขียนจึงมักใช้คำสวยงาม วลีงามๆ แต่ในชีวิตจริงไม่ค่อยได้พูดคำเหล่านี้ ทำให้โน้มน้าวใจ ตรงใจ หรือตกหลุมรัก เพราะมาตรงกับสิ่งที่เราต้องการ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า การแชตมี ทั้งข้อดีและข้อเสีย เป็นความก้าวหน้าของโลก เทคโนโลยีแต่จะต้องรู้เท่าทันสื่อชนิดนี้ แต่เท่าที่เด็กใช้การสื่อสารด้วยการแชตนั้นมักเป็นการ คุยกันพูดคุยเสมือนช่องทางหนึ่งในการจีบสาว โดยหนุ่มๆ ต้องสร้างภาพว่าตัวเองดีอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อจีบผู้หญิงให้ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คู่สนทนาประสงค์จะนัดพบกันขอให้นัดในที่สาธารณะอย่าไปคนเดียว และอย่านัดพบกันที่โรงแรมหรือโรงภาพยนตร์ เพราะเสี่ยงต่ออันตราย ขอย้ำเตือนผู้หญิงที่จะนัดชายที่เจอกันด้วยการสื่อสารนี้ว่า โดยธรรมชาติของเพศชายจะมีแรงผลักดันทางเพศมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ต้องการมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว จึงมักสร้างภาพลวงให้หลงเชื่อแล้ววางใจจนนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ แต่เพศหญิงต้องการความรัก การทะนุถนอม

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การ “นัดบอด” หรือนัดที่ต่างฝ่ายไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน โอกาสที่จะนำไปสู่การแต่งงานกันนั้นมีน้อยมาก จึงขอให้แชตกันเพื่อความสนุก อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เนื่องจากในชีวิตจริงไม่มีพระเอกเหมือนในภาพยนตร์

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า หากเป็นสังคมในสมัยก่อนจะมี ปู่ ย่า ตา ยาย คอยช่วยดูแลบุตรหลาน แต่สังคมปัจจุบันครอบครัวมีขนาดเล็กลง ทำให้เด็กมีโอกาสอยู่ตามลำพัง จึงทำให้เด็กสมัยนี้ไปอยู่ในมิติแห่งโลกเหมือนจริงที่ไม่เป็นจริง เช่น การแชตนี้จะรู้สึกเหมือนจริงว่ามีคนมาพูดคุยด้วย แต่ไม่มีจริง

“กรณีเกิดการฆาตกรรมที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการแชต ถือว่าน่าเป็นห่วง และควรจะเป็น อุทาหรณ์สำหรับพ่อแม่ทุกคนที่จะต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันพ่อแม่ต้องอย่าปฏิเสธการเรียนรู้เทคโนโลยี แต่จะต้องเรียนรู้คู่ไปกับลูกเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิต รวมทั้งเสียสุขภาพและเงินทอง และต้องอยู่ในโลกเหมือนจริง” ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ระบุ

www.saijai.net โทร.0-2886-9991
ที่มาจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

 

ค่ายครอบครัวร่วมเรียนรู้อินเทอร์เน็ต ซึ่งจัดโดย มูลนิธิอินเตอร์เน็ตไทย

saijai ลูกรัก
SaiJai.net ได้ร่วมงาน ค่ายครอบครัวร่วมเรียนรู้อินเทอร์เน็ต ซึ่งจัดโดย มูลนิธิอินเตอร์เน็ตไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2549 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดย ดร. พงศกร สายเพ็ชร์ ได้รับเกียรติเป็นวิทยากร เรื่องบริการใส่ใจ



เนื้อหาของการบรรยายนั้นเป็นการอธิบาย เหตุผลที่ทีมงานใส่ใจได้สร้างสรรค์บริการใส่ใจขึ้น หลักการทำงานของบริการใส่ใจ และรายละเอียดข้อแนะนำการใช้งาน อย่างมีประโยชน์ดังต่อไปนี้

1. บริการใส่ใจเหมาะสมกับท่านผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยที่ต้องการการดูแลและเอาใจใส่เป็นพิเศษ เช่นในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ และเหมาะสมอย่างยิ่ง หากจะเริ่มใช้งานบริการใส่ใจไปพร้อมๆ กับการเริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์ เหมาะกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป เพื่อดูแลพฤติกรรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าการแก้ไขภายหลัง

2. การใช้งาน ควรเริ่มต้นจากการสังเกตพฤติกรรมการใช้งานของเด็กก่อน ในขั้นแรกยังไม่มีความจำเป็นจะต้องปิดกั้นการใช้งานคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด ควรเริ่มสังเกตและเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์ของเด็กๆ ว่ามีการใช้งานในทางที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ เช่น การเข้าเว็บโป๊ลามกอนาจาร การพูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือการเล่นเกมวันละหลายๆ ชั่วโมง เป็นต้น โดยสามารถดูรายงานของบริการใส่ใจได้ ที่หน้าแสดงผลรายงาน ซึ่งแบ่งเป็นประเภท เว็บ แชท และเกม ซึ่งการดูรายงานก็สะดวกและง่าย

3. พูดคุยทำความเข้าใจกับเด็กๆ ในการใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างเหมาะสม ร่วมกันตกลงและวางตารางการใช้งาน เช่น การเล่นเกมไม่ควรใช้เวลาเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน หรือ การแชท ก็ควรจะแชทในเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่คุยกันจนดึกดื่นเกินไป ผู้ปกครองไม่ควรบังคับเด็กมากเกินไป ควรคิดอยู่เสมอว่า การแก้ปัญหาเหล่านี้ ควรเป็นการทำความเข้าใจกันด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะคติ มากกว่าที่จะบังคับให้เด็กทำให้สิ่งที่ พวกเขาไม่ยอมรับ

4. เมื่อพบว่าเด็กสนใจหรือหมกมุ่นในการใช้งานคอมพิวเตอร์จนมากเกินไป ผู้ปกครองควรหากิจกรรมเพื่อดึงความสนใจของเด็กให้ออกห่างจากคอมพิวเตอร์ อาจจะเป็นการเล่นกีฬา เล่นดนตรี ศิลปะ หรืองานหัตถกรรม พยายามหากิจกรรมที่เด็กจะสามารถใช้ความคิด จินตนาการ หรือกระตุ้นให้เด็กได้แสดงออกอย่างเต็มที่ หลีกเลี่ยงกิจกรรม ที่เด็กจะทำได้แค่ดูหรือสังเกตการณ์เท่านั้น เช่นการดูโทรทัศน์

5. กลับไปสังเกตพฤติกรรมการใช้งานของเด็กอีกครั้ง หลังจากหากิจกรรมเพื่อดึงดูดความสนใจไม่ให้เด็กหมกมุ่นอยู่กับการใช้คอมพิวเตอร์ ว่ายังคงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับคอมพิวเตอร์หรือไม่ ถ้ายังไม่สามารถดึงความสนใจเด็กจากคอมพิวเตอร์ได้ ก็ค่อยๆ จำกัดเวลาการใช้งาน โดยขั้นแรก ควรตกลงเวลากับเด็กถึงความเหมาะสมในการใช้งาน โดยไม่ควรจำกัดเวลาเด็กมากเกินไป ควรเลือกจำกัดเวลาที่เหมาะสม และเด็กสามารถยอมรับได้ บริการใส่ใจ มี ตารางการตั้งค่าเวลาการใช้งานคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถตั้งค่าการใช้งาน ได้ในระดับชั่วโมง เช่น หากตกลงกันได้ว่า ควรใช้งาน ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน ประมาณ 5 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม ก็ควรตั้งเวลา การใช้งานใส่ใจ เป็น 4 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่ม เพื่อสังเกตการใช้งานของเด็กอีกครั้งว่า ได้ปฏิบัติตามได้อย่างที่ตกลงกันไว้หรือไม่

6. ไม่ควรบังคับหรือจำกัด ในสิ่งที่เด็กไม่ยอมรับ และไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่จะต้องทำ พึงระลึกอยู่เสมอว่า ความรักความเข้าใจ เป็นสิ่งสำคัญต่อเด็ก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้องใช้เวลาและเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขกันได้ภายในระยะเวลาอันสั้น การทำความเข้าใจกัน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว

www.saijai.net โทร.0-2886-9991
ที่มาจาก มูลนิธิอินเตอร์เน็ตไทย