15 พฤษภาคม 2549

 

ค่ายครอบครัวร่วมเรียนรู้อินเทอร์เน็ต ซึ่งจัดโดย มูลนิธิอินเตอร์เน็ตไทย

saijai ลูกรัก
SaiJai.net ได้ร่วมงาน ค่ายครอบครัวร่วมเรียนรู้อินเทอร์เน็ต ซึ่งจัดโดย มูลนิธิอินเตอร์เน็ตไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2549 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดย ดร. พงศกร สายเพ็ชร์ ได้รับเกียรติเป็นวิทยากร เรื่องบริการใส่ใจ



เนื้อหาของการบรรยายนั้นเป็นการอธิบาย เหตุผลที่ทีมงานใส่ใจได้สร้างสรรค์บริการใส่ใจขึ้น หลักการทำงานของบริการใส่ใจ และรายละเอียดข้อแนะนำการใช้งาน อย่างมีประโยชน์ดังต่อไปนี้

1. บริการใส่ใจเหมาะสมกับท่านผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยที่ต้องการการดูแลและเอาใจใส่เป็นพิเศษ เช่นในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ และเหมาะสมอย่างยิ่ง หากจะเริ่มใช้งานบริการใส่ใจไปพร้อมๆ กับการเริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์ เหมาะกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป เพื่อดูแลพฤติกรรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าการแก้ไขภายหลัง

2. การใช้งาน ควรเริ่มต้นจากการสังเกตพฤติกรรมการใช้งานของเด็กก่อน ในขั้นแรกยังไม่มีความจำเป็นจะต้องปิดกั้นการใช้งานคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด ควรเริ่มสังเกตและเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์ของเด็กๆ ว่ามีการใช้งานในทางที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ เช่น การเข้าเว็บโป๊ลามกอนาจาร การพูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือการเล่นเกมวันละหลายๆ ชั่วโมง เป็นต้น โดยสามารถดูรายงานของบริการใส่ใจได้ ที่หน้าแสดงผลรายงาน ซึ่งแบ่งเป็นประเภท เว็บ แชท และเกม ซึ่งการดูรายงานก็สะดวกและง่าย

3. พูดคุยทำความเข้าใจกับเด็กๆ ในการใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างเหมาะสม ร่วมกันตกลงและวางตารางการใช้งาน เช่น การเล่นเกมไม่ควรใช้เวลาเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน หรือ การแชท ก็ควรจะแชทในเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่คุยกันจนดึกดื่นเกินไป ผู้ปกครองไม่ควรบังคับเด็กมากเกินไป ควรคิดอยู่เสมอว่า การแก้ปัญหาเหล่านี้ ควรเป็นการทำความเข้าใจกันด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะคติ มากกว่าที่จะบังคับให้เด็กทำให้สิ่งที่ พวกเขาไม่ยอมรับ

4. เมื่อพบว่าเด็กสนใจหรือหมกมุ่นในการใช้งานคอมพิวเตอร์จนมากเกินไป ผู้ปกครองควรหากิจกรรมเพื่อดึงความสนใจของเด็กให้ออกห่างจากคอมพิวเตอร์ อาจจะเป็นการเล่นกีฬา เล่นดนตรี ศิลปะ หรืองานหัตถกรรม พยายามหากิจกรรมที่เด็กจะสามารถใช้ความคิด จินตนาการ หรือกระตุ้นให้เด็กได้แสดงออกอย่างเต็มที่ หลีกเลี่ยงกิจกรรม ที่เด็กจะทำได้แค่ดูหรือสังเกตการณ์เท่านั้น เช่นการดูโทรทัศน์

5. กลับไปสังเกตพฤติกรรมการใช้งานของเด็กอีกครั้ง หลังจากหากิจกรรมเพื่อดึงดูดความสนใจไม่ให้เด็กหมกมุ่นอยู่กับการใช้คอมพิวเตอร์ ว่ายังคงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับคอมพิวเตอร์หรือไม่ ถ้ายังไม่สามารถดึงความสนใจเด็กจากคอมพิวเตอร์ได้ ก็ค่อยๆ จำกัดเวลาการใช้งาน โดยขั้นแรก ควรตกลงเวลากับเด็กถึงความเหมาะสมในการใช้งาน โดยไม่ควรจำกัดเวลาเด็กมากเกินไป ควรเลือกจำกัดเวลาที่เหมาะสม และเด็กสามารถยอมรับได้ บริการใส่ใจ มี ตารางการตั้งค่าเวลาการใช้งานคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถตั้งค่าการใช้งาน ได้ในระดับชั่วโมง เช่น หากตกลงกันได้ว่า ควรใช้งาน ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน ประมาณ 5 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม ก็ควรตั้งเวลา การใช้งานใส่ใจ เป็น 4 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่ม เพื่อสังเกตการใช้งานของเด็กอีกครั้งว่า ได้ปฏิบัติตามได้อย่างที่ตกลงกันไว้หรือไม่

6. ไม่ควรบังคับหรือจำกัด ในสิ่งที่เด็กไม่ยอมรับ และไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่จะต้องทำ พึงระลึกอยู่เสมอว่า ความรักความเข้าใจ เป็นสิ่งสำคัญต่อเด็ก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้องใช้เวลาและเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขกันได้ภายในระยะเวลาอันสั้น การทำความเข้าใจกัน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว

www.saijai.net โทร.0-2886-9991
ที่มาจาก มูลนิธิอินเตอร์เน็ตไทย

บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv