23 พฤศจิกายน 2549

 

พ่อแม่ยุคไอทีหนักใจปัญหา"เด็กติดเกม"

พ่อแม่ยุคไอทีหนักใจปัญหา"เด็กติดเกม"
แม้ "เกม" คือการแข่งขันที่มีกำหนดกติกา และเพื่อสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้ผู้เล่น แต่เกมบางเกมอาจสร้างเสริมความสนุกสนาน อยู่นอกเหนือกฎกติกา โดยเฉพาะเกมคอมพิวเตอร์ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ยิ่งเดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะระบาดเข้ามาในหมู่ของเด็กๆ ตั้งแต่ยังไม่เข้าเรียนในโรงเรียนด้วยซ้ำ

เด็กไทยจำนวนไม่น้อย ที่ตกเป็นทาสของเกมคอมพิวเตอร์ หรือจะเรียกว่าเด็กเหล่านี้เสพติดเกมก็ว่าได้ ปัญหานี้ดูจะเป็นปัญหาหนักอกสำหรับผู้ปกครอง ที่พยายามดิ้นรนหาทุกวิถีทางเพื่อดึงความสนใจของลูกน้อย ให้กลับมาเป็นลูกน้อยที่น่ารักคนเดิม นี่เองจึงเป็นที่มาของการจัดเสวนา "เด็กติดเกม : เกมที่ผู้ใหญ่ต้องแก้" โดย น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เป็นผู้บรรยาย ซึ่งจัดโดยศูนย์การเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค) เมื่อวันก่อน

น.พ.บัณฑิต กล่าวว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวเข้ามาแทนกิจกรรมอื่นๆ จากอดีตเด็กจะสนุกสนานกับการได้เล่นกับเพื่อน แต่ปัจจุบันเด็กมีความสุขที่ได้อยู่กับโทรทัศน์ ดูการ์ตูน มีภาพสวยๆ ที่เคลื่อนไหวดึงดูดใจ ดูซีดีหรือดีวีดีที่สามารถเปิดชมเมื่อไรก็ได้ ต่อไปเมื่อเด็กรู้จักใช้คอมพิวเตอร์ จะทำให้เด็กเริ่มเรียนรู้การเล่นเกม และมองว่าเกมให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน อีกทั้งยังเป็นการเนรมิตโลกแห่งจินตนาการของพวกเขาได้อีกด้วย

"คอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนเติมจินตนาการของพวกเขา เด็กสามารถเป็นอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา และสามารถเริ่มเกมใหม่ได้เมื่อแพ้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เด็กไม่สามารถทำได้ในสังคมแห่งความเป็นจริง สิ่งสำคัญกว่านั้นคือเกมเป็นเสมือนเครื่องมือในการแสวงหาความภาคภูมิใจในตนเอง เมื่อชนะเขาจะรู้สึกประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลจากเกม ได้รับการยอมรับ และการยกย่องจากกลุ่มเพื่อน ทั้งเพื่อนจริงและเพื่อนในโลกไซเบอร์" น.พ.บัณฑิต ชี้เหตุผลการชื่นชอบเกมของเด็กๆ

ใช่ว่าการเล่นเกมจะไม่มีประโยชน์เลยซะทีเดียว เพราะนอกจากความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน และคลายเครียดแล้ว ยังเป็นเครื่องกระตุ้นความตั้งใจ ความมุ่งมั่นในการทำภารกิจเหล่านั้น ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ในขณะเดียวกันความมุ่งมั่นเหล่านั้นก็มาพร้อมข้อเสีย เพราะเป็นความมุ่งมั่นจอมปลอม เป็นความพยายามที่อยู่บนความสบาย ไม่ได้ต่อสู้กับความยากลำบากเพื่อความสำเร็จอย่างแท้จริง ทั้งการเล่นคอมพิวเตอร์ยังส่งผลเสียหลายประการ ทั้งต่อสุขภาพร่างกาย สุภาพจิต และร้ายที่สุด คือคอมพิวเตอร์เป็นตัวการทำลายความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวด้วย

"กลิ้ง" ศุภเกียรติ แสงจงเจริญ อดีตเด็กติดเกมเล่าถึงชีวิตในช่วงเวลานั้นว่า เริ่มเล่นเกมกดเป็นครั้งแรก แล้วค่อยพัฒนามาเป็นวิดีโอเกม เรื่อยมาจนเป็นแผ่นซีดี ซึ่งเขาเริ่มเล่นตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ พอถึงระดับมหาวิทยาลัยก็พัฒนามาสู่เกมคอมพิวเตอร์

"ผมเคยเล่นนานที่สุดถึง 4 วันติดต่อกัน กินนอนอยู่ที่ร้านเกม เล่นตั้งแต่ 5 โมงเย็น-9 โมงเช้าของอีกวัน ไม่ค่อยได้เจอหน้าพ่อแม่และครอบครัว ผมติดเกมหนัก ไม่เข้าเรียน กลุ่มเพื่อนก็จะเปลี่ยนจากในมหาวิทยาลัยไปเป็นกลุ่มเพื่อนที่ร้านเกมแทน

จากการเล่นทุกวัน วันละหลายๆ ชั่วโมง ก็จะเริ่มมีปัญหาเรื่องเงินที่จะมาเล่น จนต้องใช้วิธีการหาเงินโดยเอาของรางวัลต่างๆ ที่เล่นได้จากเกม มาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในเกมโดยจ่ายเงิน เหมือนเป็นการพนัน จุดเปลี่ยนที่ทำให้เลิกติดเกม เพราะว่าถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงกะทันหันตอนอยู่ปี 3 วันนั้นผมรู้สึกแย่มาก เพราะผมไม่มีความรับผิดชอบ ต้องเสียอนาคต ที่สำคัญผมทำให้พ่อแม่ที่รักผมต้องเสียใจ" กลิ้ง เล่าถึงอดีตอันเจ็บปวด

สำหรับคุณแม่ที่มีลูกติดเกม "เจี๊ยบ" จินตนา เจริญศุข บอกว่า เริ่มต้นให้ลูกรู้จักคอมพิวเตอร์ เพราะต้องการฝึกทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ให้ลูกเรียนตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล 3 จากนั้นลูกเริ่มเล่นเกม บางครั้งเธอก็เป็นคนซื้อ รวมทั้งมีคนอื่นซื้อมาให้ ซึ่งวางใจ ไม่ได้เข้าไปดูแลในจุดนี้

"ช่วง ป.4 ลูกติดเกมมาก จากที่เคยเรียนดี เกรดเฉลี่ยก็เริ่มตกลงมา ตอนแรกเข้าใจว่าสาเหตุอาจมาจากวิชาเรียนที่ยากขึ้น เลยพาลูกไปติว เรียนพิเศษเพิ่มตอน ป.5 กลับจากเรียนพิเศษเขาจะขออนุญาตเล่นเกม เราก็ให้เขาเล่นตั้งแต่ครึ่งวันบ่ายจนถึงเย็น และ ที่ทำให้รู้สึกว่าลูกเริ่มเปลี่ยนไป คือในขณะที่เขากำลังเล่นเกมอยู่ พอน้องสาวเข้าไปใกล้ก็จะโดนรังแก ทะเลาะกัน ตีกัน พฤติกรรมเริ่มก้าวร้าวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด" เจี๊ยบ เล่าพฤติกรรมของลูกที่เริ่มเปลี่ยนไปเป็นคนละคน

เจี๊ยบ ยังเล่าอีกว่า เคยพาลูกไปที่ทำงาน แล้วลูกไปนั่งเล่นคอมพิวเตอร์ พอเจ้าของเครื่องต้องการจะใช้เครื่องทำงาน ลูกชายของเธอก็ตวาดใส่ จนทำให้รู้สึกว่าลูกตัวเองเริ่มใช้ไม่ได้ โชคดีที่พาลูกชายเข้าคอร์สบำบัดเด็กติดเกมได้ทัน ซึ่งลูกชายก็รู้จักแบ่งเวลาในการเล่นเกม และรู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่มากขึ้น

นอกจากนี้ น.พ.บัณฑิต ยังบอกถึงวิธีการสังเกตว่า ลูกติดเกมหรือไม่ โดยการสังเกตจากกลุ่มอาการทั้ง 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอาการแสวงหาการเล่น คือจะเล่นไม่ว่าจะเวลาไหนของวัน เล่นตลอดคืนหรือตื่นขึ้นมาเล่นกลางดึก 2.กลุ่มอาการชินชากับการเล่น ได้แก่ การที่ต้องเล่นนานขึ้น จึงจะสนุกเป็นที่พอใจ

3.กลุ่มอาการขาดการเล่นไม่ได้ เด็กจะรู้สึกหงุดหงิดก้าวร้าว หรือหงอยเหงาหากไม่ได้เล่นเกม พยายามเลิกหลายครั้งแต่เลิกไม่ได้ 4.กลุ่มอาการเสียการทำหน้าที่หลัก เสียการเรียน เสียมนุษยสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากมีพฤติกรรมเหมือนทั้ง 4 กลุ่มนี้ ให้สงสัยว่าน่าจะเข้าข่ายติดเกม

สำหรับการช่วยเหลือเด็กติดเกม สำคัญที่สุดควรเริ่มจากครอบครัวเป็นอันดับแรก 1.สร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเล็กให้เป็นนิสัย 2.ลดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พ่อแม่ควรเอาคอมพิวเตอร์มาวางไว้กลางบ้าน แทนที่จะเป็นห้องส่วนตัวของลูก 3.ใช้มาตรการทางการเงิน พ่อแม่ต้องพยายามให้ลูกบริหารจัดการเงินรายรับ-รายจ่ายของตนให้ได้

4.ครอบครัวควรฟังและพูดด้วยดีต่อกัน 5.ชื่นชมให้กำลังใจ มองหาข้อดีในตัวลูกแม้เรื่องเล็กๆ ก็ควรชื่นชม 6.ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อลูกโตขึ้นเปลี่ยนจากการสั่งเป็นการเจรจา 7.มีทางออกที่สร้างสรรค์ให้เด็ก ครอบครัวต้องดึงเขามาสู่กิจกรรมใหม่ๆ เช่น กีฬา ดนตรี ผลักดันให้เขาค้นพบความภาคภูมิใจ และการยอมรับจากสังคม

8.สร้างรอยยิ้มในครอบครัว ชมลูกเมื่อลูกทำดี 9.ควบคุมอารมณ์ พ่อแม่ควรมองตัวเองในแง่ดี รวมทั้งมองมิติอื่นที่ประสบความสำเร็จในชีวิตบ้าง และเหนือสิ่งอื่นใด ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงที่ตัวของเราเองด้วย

ถึงอย่างไรครอบครัวก็คือเกราะป้องกันชั้นเยี่ยม ที่จะทำให้ลูกน้อยของคุณกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างมีคุณภาพนะคะ

03 พฤศจิกายน 2549

 

รัฐบาลจีนหาหนทางสะกัดเด็กติด"เน็ต"

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 30 ตุลาคม 2549 10:57 น.
รัฐบาลจีนเตรียมผุดแนวทาง ลด ละ เลิก พฤติกรรมติดอินเทอร์เน็ตในกลุ่มเด็ก หวังสะกัดปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่ถูกต้อง โดยเผยว่าต้องการให้เยาวชนของชาติเชื่อมต่อโลกออนไลน์เพื่อการศึกษาและธุรกิจมากกว่า

กระแสโลกาภิวัฒน์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับยักษ์ใหญ่แดนมังกร ด้วยหวั่นเกรงว่า เยาวชนในอนาคตจะกลายเป็นทาสของอบายมุข ส่งผลให้รัฐบาลจีนเตรียมออกมาตรการควบคุมเยาวชนในการเข้าถึงสิ่งยั่วยุให้เข้มงวด และรัดกุมมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าใช้คอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่

สื่อแดนมังกรอย่างไชน่าเดลี่รายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาต้นเหตุของปัญหาการติดอินเทอร์เน็ตของเด็ก ๆ โดยระบุว่า โปรแกรมแชต และเกมออนไลน์ ตลอดจนอบายมุขเช่น การพนัน และยาเสพติด สามารถเข้าถึงเด็ก ๆ ได้ผ่านอินเทอร์เน็ต

ส่งผลให้รัฐสภาของจีน กำลังอยู่ระหว่างการระดมสมองพิจารณามาตรการใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันเยาวชนจากพฤติกรรมเสพติดการเล่นอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

ด้านสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันเด็กให้ห่างไกลจากสิ่งยั่วยุต่าง ๆ โดยจะห้ามไม่ให้เยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข เช่น อินเทอร์เน็ตคาเฟ่, บาร์ หรือสถานเต้นรำด้วย พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้มีการวิจัย-พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ เช่น ซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่สามารถจำกัดเวลาการเล่นเกมออนไลน์ได้ตามที่รัฐบาลกำหนด

อย่างไรก็ดี มีหลายเสียงที่ออกมาค้านว่า กฎหมายดังกล่าวยากจะที่ใช้บังคับได้ โดยสมาชิกรัฐสภา Ye Rutang กล่าวว่า "สำหรับเด็กวัยรุ่นที่อายุมากกว่า 16 ปี และสามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง มันดูไม่มีเหตุผลที่จะจำกัดไม่ให้เขาเข้าใช้อินเทอร์เน็ตในร้านเหล่านั้น"

ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีประชากรอินเทอร์เน็ต 123 ล้านคน มากเป็นอับดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งภาพพจน์ของการใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกเผยแพร่โดยสื่อนานาชาตินั้นมักเป็นแง่ลบเสียส่วนมาก และจีนยังถูกมองว่าจำกัดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนก็ถือได้ว่าต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัฒน์และการมาถึงของยุคข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้คอนเทนต์ล่อแหลม ความคิดเห็นทางการเมืองและศาสนาเข้ามายังประเทศของตน

 

ชี้กลุ่มล่วงละเมิดเด็กสบช่องใช้เน็ตเผยแพร่-ผลิตสื่อลามก

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 31 ตุลาคม 2549 14:50 น.



เทคโนโลยีรุ่นใหม่เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, ดีเอสแอล หรือเคเบิล กลายเป็นเครื่องมือช่วยให้กลุ่มวิปริตทางเพศที่ชื่นชอบการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กสามารถกระทำผิดได้ง่ายดายขึ้น แถมยังยากต่อการตรวจสอบ หรือจับกุมตัวด้วย

ประเด็นดังกล่าวได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางในงานสัมมนา The Computer Facilitated Crimes Aganist Children ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยพบว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเยาวชนจากตะวันตก อเมริกา และออสเตรเลีย

อาร์โนลด์ เบลล์ หัวหน้าเอฟบีไอฝ่ายคดีอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า "งานสัมมนาครั้งนี้ไม่ได้มาเพื่อพูดถึงภาพเด็กที่แต่งตัวไม่เหมาะสม แต่เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับปัญหาดังกล่าว อายุของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศน้อยลงทุกที บางคนอายุเพียงแค่ 4 - 5 เดือนเท่านั้น สิ่งที่มุ่งให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คือการค้นหาและช่วยเหลือเด็กให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้"

งานสัมมนาดังกล่าวมีองค์กร-ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมนับ 100 ราย ไม่ว่าจะเป็น เอฟบีไอ, the International Centre for Missing and Exploited Children และไมโครซอฟท์

เบลล์กล่าวว่า เขายังเชื่อมั่นว่าจะสามารถเอาชนะขบวนการล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่แฝงกายอยู่บนอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ได้ แม้ว่าตัวเลขคดีอาชญากรรมการล่วงละเมิดทางเพศเฉพาะในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นมากถึง 2,000 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

ด้านตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศรายหนึ่งให้ความเห็นว่า กลุ่มวิปริตทางเพศเหล่านี้ไม่มีทางกำจัดได้หมดสิ้น เพราะพวกเขาสามารถค้นหาช่องทางใหม่ ๆ ในการผลิต-แลกเปลี่ยนสื่อกันได้เรื่อย ๆ