15 พฤษภาคม 2549

 

เตือน‘พ่อ-แม่’รู้ทันภัยแชต

กรมสุขภาพจิต
เตือน‘พ่อ-แม่’รู้ทันภัยแชต
โพสต์ทูเดย์ — จิตแพทย์เตือนสาวนักแชต อย่าเคลิ้มกับการหลอกลวงในโลกไซเบอร์ เป็นการ สร้างจินตนาการให้หลงเชื่อ-วางใจจนนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การแชต หรือการสนทนาทางอินเทอร์เน็ตจนเกิดเหตุการ ฆาตกรรมขึ้นภายหลังการนัดพบกัน เนื่องจากคู่สนทนาฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นดังที่วาดภาพไว้ ซึ่งในความเป็นจริงการสื่อสารด้วยการแชตนั้นจะไม่เห็นหน้าตา แต่ให้ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ โดยเฉพาะ ผู้หญิงที่มีโอกาสน้อยในการสร้างสัมพันธภาพกับเพศตรงข้ามจะชอบ เพราะในโลกไซเบอร์มีการใช้ภาษาหวานๆ ในการเกี้ยวพาราสีกัน

“คนที่อ่อนไหวจะปักใจเชื่อว่าเขารัก คนที่ไม่คุ้นเคยกับโลกไซเบอร์จะเชื่อว่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่แชตกันเป็นจริง ซึ่งความจริงไม่ใช่ ข้อมูลที่ คุยกันส่วนใหญ่มักเป็นเท็จ มีการใช้ชื่อปลอม สร้างภาพให้ตัวเอง ใช้ภาษาสุภาพทั้งที่ตัวเองหยาบคาย สกปรก เป็นการสร้างจินตนาการตามที่เราอยากเป็น ตามที่เราชอบ ภาษาเขียนจึงมักใช้คำสวยงาม วลีงามๆ แต่ในชีวิตจริงไม่ค่อยได้พูดคำเหล่านี้ ทำให้โน้มน้าวใจ ตรงใจ หรือตกหลุมรัก เพราะมาตรงกับสิ่งที่เราต้องการ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า การแชตมี ทั้งข้อดีและข้อเสีย เป็นความก้าวหน้าของโลก เทคโนโลยีแต่จะต้องรู้เท่าทันสื่อชนิดนี้ แต่เท่าที่เด็กใช้การสื่อสารด้วยการแชตนั้นมักเป็นการ คุยกันพูดคุยเสมือนช่องทางหนึ่งในการจีบสาว โดยหนุ่มๆ ต้องสร้างภาพว่าตัวเองดีอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อจีบผู้หญิงให้ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คู่สนทนาประสงค์จะนัดพบกันขอให้นัดในที่สาธารณะอย่าไปคนเดียว และอย่านัดพบกันที่โรงแรมหรือโรงภาพยนตร์ เพราะเสี่ยงต่ออันตราย ขอย้ำเตือนผู้หญิงที่จะนัดชายที่เจอกันด้วยการสื่อสารนี้ว่า โดยธรรมชาติของเพศชายจะมีแรงผลักดันทางเพศมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ต้องการมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว จึงมักสร้างภาพลวงให้หลงเชื่อแล้ววางใจจนนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ แต่เพศหญิงต้องการความรัก การทะนุถนอม

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การ “นัดบอด” หรือนัดที่ต่างฝ่ายไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน โอกาสที่จะนำไปสู่การแต่งงานกันนั้นมีน้อยมาก จึงขอให้แชตกันเพื่อความสนุก อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เนื่องจากในชีวิตจริงไม่มีพระเอกเหมือนในภาพยนตร์

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า หากเป็นสังคมในสมัยก่อนจะมี ปู่ ย่า ตา ยาย คอยช่วยดูแลบุตรหลาน แต่สังคมปัจจุบันครอบครัวมีขนาดเล็กลง ทำให้เด็กมีโอกาสอยู่ตามลำพัง จึงทำให้เด็กสมัยนี้ไปอยู่ในมิติแห่งโลกเหมือนจริงที่ไม่เป็นจริง เช่น การแชตนี้จะรู้สึกเหมือนจริงว่ามีคนมาพูดคุยด้วย แต่ไม่มีจริง

“กรณีเกิดการฆาตกรรมที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการแชต ถือว่าน่าเป็นห่วง และควรจะเป็น อุทาหรณ์สำหรับพ่อแม่ทุกคนที่จะต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันพ่อแม่ต้องอย่าปฏิเสธการเรียนรู้เทคโนโลยี แต่จะต้องเรียนรู้คู่ไปกับลูกเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิต รวมทั้งเสียสุขภาพและเงินทอง และต้องอยู่ในโลกเหมือนจริง” ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ระบุ

www.saijai.net โทร.0-2886-9991
ที่มาจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv