18 พฤษภาคม 2549

 

คนรอบข้างต้องใส่ใจ วิธีป้องกันภัยอินเตอร์เน็ต




ณ ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้โลกไร้พรมแดน อย่าง “อินเตอร์เน็ต” นำความสะดวกสบาย และประโยชน์มามากมายสู่มนุษย์ อาทิ การประชุมที่ไม่ต้องเดินทางไปถึงสถานที่นั้นๆ เพียงมีระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็สามารถประชุมได้แล้ว หรือจะเป็นเรื่องของความรวดเร็วในการก้าวทันโลกยุคข่าวสาร เพียงแค่ใช้ปลายนิ้วคลิกเข้าเว็บไซต์ก็สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ รวมถึงความสะดวกสบายในการจับจ่ายซื้อของ ก็สามารถทำธุรกรรมผ่านตลาดออนไลน์ในโลกไซเบอร์ได้

“แชท” หรือ ระบบสนทนาผ่านแป้นพิมพ์ คืออีกหนึ่งความสามารถของอินเตอร์เน็ต และเป็นที่นิยมอย่างมากจนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน ภัยที่เกิดจากอินเตอร์เน็ตมีเกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับวิทยาการอันก้าวล้ำเช่นกัน

ตัวอย่าง คดีฆ่าหั่นศพหญิงสาว ด้วยน้ำมือฆาตรกรหนุ่มจากปากีสถาน ซึ่งทั้งสองรู้จักกันผ่านการแชท และกรณีเช่นนี้หาได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นการล่อลวงไปข่มขืน จากเหตุที่เกิดขึ้น ทำเอาบางกลุ่มชนในสังคมไม่อยากให้มีระบบอินเตอร์เน็ตกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะผู้ใหญ่ซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบ

อย่าง “นางสมหมาย เรืองจรูญ” อาชีพค้าขาย เจ้าตัวกล่าวว่า เธอมีลูกสาวชอบเล่นอินเตอร์เน็ตทุกวัน และตัวเธอเองไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวเลย

“เรามีเพียงปัญญาหาเงินให้ได้มากที่สุดเพื่อลูกเท่านั้น เขาอยากได้อะไรก็หาให้ อะไรที่สนับสนุนการศึกษาเขา เพื่อทำให้เขาได้เรียนได้อย่างเต็มที่ ก็ยินดีที่จะหามาให้ลูก”

“คอมพิวเตอร์ก็เป็นของที่เราหาให้เขา จ่ายค่าอินเตอร์เน็ตให้ทุกเดือน ไอ้การที่เขาจะนำไปเล่นแบบที่เกิดปัญหาอย่างในข่าว เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้และก็ไม่มีทางรู้ได้เลย นี่ก็เพิ่งรู้ว่ามันมีอย่างนี้ด้วย มีการหาคู่ของวัยรุ่นทางอินเตอร์เน็ตด้วย พอรู้ก็ตกใจเหมือนกัน

ใจเราก็ไม่อยากให้เขาไปเล่นเลย แต่ก็ห้ามไม่ได้ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอย่างนี่เราก็หามาให้เขาได้ใช้ แต่เมื่อมันเป็นดาบสองคม อันนี้ก็จนปัญญา ก็หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่นั่นแหละ ห่วงเขา คงต้องขึ้นอยู่กับลูกว่าเขาจะเลือกอย่างไร เราเลี้ยงเขาได้แค่ตัว ทำได้แค่ดูแลส่งเสีย และก็เป็นห่วงในสภาพสังคมร้ายๆ ที่มีอยู่ทุกวันนี้ ไม่อยากให้อะไรที่มันไม่ดีเกิดกับลูกเรา”

นั่นคือความรู้สึกจากปากของผู้ปกครองซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอินเตอร์เน็ต มีเพียงสิ่งเดียวก็คือห่วงความปลอดภัยของบุตรหลาน ในขณะที่ตัวของนักศึกษา ที่มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยอย่างที่ว่าบอก ภัยที่เกิดขึ้นจากการแชทเป็นเรื่องที่ป้องกันได้

“โบ ณัฐรินีย์ พาทีไพเราะ” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่คิดเช่นนั้น

โดยโบกล่าวว่าทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักศึกษา อย่างในเรื่องของการค้นคว้าหาข้อมูล

“โบเป็นคนหนึ่งที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำทั้งใช้ทำงาน หรืออยากรู้อะไรก็เข้าไปค้นหาดู แล้วก็ใช้แชทกับเพื่อน โบคิดว่ามันไม่เปลืองเงินค่าโทรศัพท์ดีออก ขณะเดียวกันมันก็เป็นดาบสองคมจริงๆ ก็ตามข่าวที่ออกมานั่นล่ะเวลาโบแชทกับคนที่ไม่รู้จัก ไม่เคยเจอตัวจริง ก็จะมีขอบเขตของตัวเอง คือเราไม่มีทางรู้ว่าคนที่เราแชทด้วยนิสัยเป็นอย่างไร คือการแชทจะพิมพ์ข้อความอะไรก็ได้ โดยที่ไม่มีอะไรบ่งบอกได้ว่าคนคนนั้นนิสัยใจคอเป็นอย่างไร ทางที่ดีที่สุด เราต้องป้องกันตัวเอง เวลาแชทก็เอาแค่แลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติกันเท่านั้น”

นอกจากนี้ โบยังให้ความเห็นว่าคนที่ชอบแชทกับคนที่ไม่รู้จักเป็นเวลานาน และชอบที่จะแชทกับคนที่ไม่รู้จัก หลายๆ คน น่าจะเป็นคนขี้เหงา ก็เลยรู้สึกดีกับการสนทนาผ่านทางคอมพิวเตอร์

“คนที่เป็นอย่างนั้น คนรอบข้างนี่ล่ะสำคัญต้องช่วยกัน ช่วยกันดูแลวิธีนี้น่าจะเป็นการป้องกันที่ดี เพื่อไม่เปิดช่องทางให้เกิดอาชญากรรมอย่างที่เกิดขึ้น อย่างโบเอง คุณแม่คอยเตือนและดูแล ยิ่งพอเห็นข่าวในทีวีว่าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้นะ เพราะอินเตอร์เน็ต คุณแม่ก็เข้ามาเตือนและสอนประจำเลยค่ะ”

www.saijai.net โทร.0-2886-9991
ที่มาข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์ 16 พฤษภาคม 2549 12:12 น.

บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv