14 กันยายน 2550

 

เด็กไทยใช้เงิน 4 พันบ./เดือน จ่ายค่าเกม-มือถือ-อาหารขยะ

โดย ผู้จัดการออนไลน์
13 กันยายน 2550 17:01 น.
สถานการณ์เด็กไทยยังวิกฤต พบเด็กคลอดก่อนบรรลุนิติภาวะสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัยรุ่น 11-19 ปี ก๊กเหล้า 1 ล้าน 2 แสนคน แถมจ่ายค่าเกม-มือถือ-อาหารขยะ เดือนละเกือบ 4 พัน เครือข่ายเด็กและเยาวชนฯ ให้รัฐบาล “ติด ร” วิชา การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

วันนี้ (13 ก.ย. ) ในงานเสวนา “เยาวชนผลประโยชน์เพื่อใคร” เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 20 กันยายนทุกปี นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว ปีที่ผ่านมา ยังน่าห่วง พบว่า เยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ พฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งตามมาด้วยปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการคลอดบุตรในเยาวชนอายุต่ำกว่า 19 ปี สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเสี่ยงต่อมา คือ การเสพติด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอินเทอร์เน็ต, เกม ความเสี่ยงต่อมาคือ การบริโภคนินิยม และวัตถุนิยม

“ขณะนี้เด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ก็เริ่มดื่มเหล้า มีเด็กชายอายุ 11-19 ปี ดื่มเหล้าถึง 1 ล้านคน เด็กหญิงอายุ 15-19 ดื่มราว 2 แสนคน ซึ่งสาเหตุการตายลำดับ 1 ของเยาวชนมาจากอุบัติเหตุ ประมาณปีละ 4,000 คน หรือ 12 คนต่อวัน โดยร้อยละ 40 ของอุบัติเหตุมาจากการดื่มเหล้า ที่สำคัญเหล้ายังสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย หากวัยรุ่นหญิงอายุน้อยกว่า 19 ปี 1 พันคน มีเพศสัมพันธ์ 90 คนจะตั้งครรภ์และคลอดลูก บางส่วนอาจทำแท้ง หรือไม่ตั้งครรภ์ วัยรุ่นจึงติดโรคทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ” นพ.สุริยะเดว กล่าว

นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เยาวชนยังเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ พบว่า เด็กติดเกมจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเล่มเกม หรือซื้อเกมถึง 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน เสียค่ามือถือเฉลี่ย 500 บาทต่อคนต่อเดือน ค่าขนมและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่ต่ำกว่า 800 บาทต่อคนต่อเดือน ทั้งนี้ มีข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในปี 2550 ระบุว่า วัยรุ่นเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดมากขึ้น ขณะที่ครอบครัวอ่อนแอ มีครอบครัวเดี่ยวที่หย่าร้างสูงขึ้นร้อยละ 10 พ่อแม่มีเวลาพูดคุยกับลูกเพียง 38.5 นาทีต่อสัปดาห์ ชุมชนขาดความเข้มแข็ง ผู้ที่ดูแลเด็กขาดทักษะและขาดคุณภาพ รัฐบาลจึงประกาศวาระเด็ก และเยาวชน ปี พ.ศ.2550 ใน 5 วาระ คือ 1.สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว 2.กิจกรรมสร้างสรรค์ 3.พัฒนาบุคลากรสถานรับเลี้ยงเด็ก และระบบอนุบาล 4.จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก และ 5.กฎหมายครอบครัว

นพ.สุริยเดว กล่าวด้วยว่า แม้ว่าผลงานเด่นของรัฐบาลนี้ คือ เรื่องสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่ผลักดันสถานีโทรทัศน์สาธารณะ จัดระเบียบความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ควบคุมโฆษณาขนมเด็ก และสถานีวิทยุต้นแบบ เพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว แม้กองทุนสื่อและหลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อยังไม่ได้คลอด และ พ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัวที่กำลังจะคลอด แต่รัฐบาลยังขาดในด้านการเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และความยั่งยืนของโครงการต่างๆ ที่ทำไป ซึ่งเครือข่ายครอบครัว ต้องการให้เกิด พ.ร.บ.ที่สมบูรณ์ ทั้งเนื้อหาและกลไกในการขับเคลื่อนส่วนกิจกรรมสร้างสรรค์ เริ่มเกิดโครงการเยาวชน 1000 ทาง การพัฒนาบุคลากรสถานเด็กเล็ก

“ภาคเครือข่ายและเยาวชน เห็นตรงกันว่า รัฐบาลสอบผ่านด้านแนวคิด หลักการ รวมทั้งการก่อให้เกิดโครงสร้างระบบ คือ คณะกรรมการประสานงานด้านเด็กและเยาวชน 5 กระทรวง แต่รัฐบาลติด “ร” ด้านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รัฐบาลชุดนี้และพรรคการเมือง จึงควรผลักดันให้เกิดระบบการทำงานของคณะประสานงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ยั่งยืนและสร้างความร่วมมือของท้องถิ่น รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำหนด และการบริหารจัดการวาระเด็ก เยาวชน และครอบครัวทุกปี รวมถึงมีพื้นที่การเรียนรู้และฝึกทักษะสำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัวและชุมชน อย่างกว้างขวาง” นพ.สุริยเดว กล่าว

ด้านนางสาวรสนา อารีฟ ผู้แทนเครือข่ายเยาวชน 1000 ทาง กล่าวว่า การส่งเสริมกิจกรรมในปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้ามากโดยเฉพาะกลไกสนับสนุนนอกสถานศึกษา เช่น การริเริ่มโครงการเยาวชน 1000 ทาง และกระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มทำการสำรวจโครงการและกลไกเดิมที่มีอยู่เพื่อเตรียมก้าวต่อไป แต่สิ่งที่ต้องช่วยกันคิดต่อ คือ ความยั่งยืนของการดำเนินงานและการพัฒนากลไกในสถานศึกษา เพราะเราเชื่อว่ากิจกรรมเป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กและเยาวชนในระยะยาว รวมทั้งอีก 4 วาระ ที่จะพูดถึงในเวทีครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก สื่อสร้างสรรค์ การปฐมวัย หรือกฎหมายครอบครัว ที่ยังจะต้องมีการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง โดยไม่ขึ้นกับผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงเท่านั้น


บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv