07 สิงหาคม 2550

 

หมอเปิดรายงาน(ลับ)“เด็กติดเกม”


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 สิงหาคม 2550 10:06 น.
“เด็กติดเกม” ดูจะเป็นปัญหาของหลายครอบครัว โดยเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ที่เวลาดูจะเป็นของหายากขึ้นทุกที โอกาสที่พ่อแม่ลูกจะใช้เวลาร่วมกันก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่จำใจต้องปล่อยให้ลูกใช้เวลาอยู่กับเทคโนโลยีและความไฮเทค จำพวกเกมและคอมพิวเตอร์ เพราะด้วยคิด ว่าอย่างน้อยจะเล่น ก็ขอให้เล่นอยู่ที่บ้านหรืออยู่ในละแวกแถวบ้าน ใกล้สายตาที่พ่อแม่พอจะมองเห็น โดยหารู้ไม่ว่า การสื่อสารระหว่างกันในครอบครัวที่น้อยลงประกอบกับการทิ้งลูกไว้กับเกมที่ไม่ได้รับการกรองจากพ่อแม่ และความไม่เข้าใจกันที่พอกพูนขึ้นทีละน้อยนั้น เป็นบ่อเกิดของปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับสภาวะอารมณ์ของเด็ก

ดังเช่นกรณีตัวอย่างจากสถาบันธัญญรักษ์รายนี้


นพ.อังกูร ภัทรากร นพ.อาทิตย์ กอธรรมรังสี และ พญ.สิริญชา ปติปัญญากุล ได้นำกรณีตัวอย่าง Game Addiction หรือภาวะติดเกมซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริงกับวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลศิริราช มารักษาต่อที่สถาบันฯ


“เป็นกรณีที่เกิดจากเด็กอายุ 17 คนหนึ่ง ที่สภาพครอบครัวค่อนข้างมีปัญหา พ่อเป็นคนดุ เข้มงวด และค่อนข้างเผด็จการ ส่วนแม่ก็มีปัญหาจากความเข้มงวดและดุของพ่อ คือแม่มีอาการซึมเศร้า ทุกอย่างในบ้านจะขึ้นอยู่กับพ่อ แม่ก็เลยมาแสดงออกโดยการตามใจลูก ส่วนเด็กที่มีปัญหาเป็นลูกชายคนกลางของครอบครัว” นพ.อังกูรเกริ่นถึงสภาพของครอบครัวของคนไข้รายนี้ ก่อนที่นพ.อาทิตย์ผู้เป็นเจ้าของไข้จะให้ข้อมูลต่อไป


“คนไข้เป็นลูกคนกลาง มีพี่ชายหนึ่งคน และน้องสาวหนึ่งคน สภาพครอบครัวพ่อแม่มีปัญหา บางครั้งที่พ่อแม่ทะเลาะกันพ่อก็ลงไม้ลงมือกับแม่ คนไข้จะเป็นลูกที่เข้าไปช่วยแม่ เข้าไปห้าม และมักจะโดนลูกหลง ในขณะที่พี่น้องคนอื่นมักจะเฉยๆ และไม่เข้าไปยุ่ง ส่วนคุณแม่ เมื่อถูกคุณพ่อกดดันแล้วไม่มีทางออก ก็ทำอะไรไม่ได้ต้องไประบายออกด้วยการตามใจลูก”


พญ.สิริญชา ซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของไข้ร่วมกับหมออาทิตย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวของคนไข้ต่อไปอีกว่า ตั้งแต่เด็กๆ มา คนไข้จึงรู้สึกต่อต้านพ่อ และหันมาพึ่งพิงผู้เป็นแม่ ด้วยเพราะแม่ตามใจมากกว่า และต่อมาคนไข้ก็ได้ใช้อาการร้องไห้ของตนเองเป็นการระบายออกของปัญหาในใจ คุณแม่จึงไปโรงเรียนและบอกอาการกับครูที่โรงเรียนว่าเด็กมีปัญหาในครอบครัว และมีอาการซึมเศร้า ชอบร้องไห้ ดังนั้นเมื่อคนไข้ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ ที่โรงเรียน ก็มักจะหาทางออกโดยการร้องไห้ เป็นข้อแม้ในการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการจะทำ และในที่สุดแม่ของคนไข้ก็ถึงกับตามใจให้ลูกหยุดเรียนเป็นเดือนๆ


“ส่วนพฤติกรรมติดเกมของคนไข้นั้นเป็นหนักถึงขนาดที่ว่า ไม่ทำอะไรเลย เล่นเกมอย่างเดียว ไปโรงเรียนก็เอาแต่หลับ ปลุกไม่ตื่น เพราะกลางคืนเล่นเกม พ่อห้ามก็แอบเล่น พ่อด่าว่าหรือตีเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผล”


นพ.อาทิตย์เปิดเผยพฤติกรรมการติดเกมจนก้าวร้าวของคนไข้รายนี้ว่า ถึงขนาดที่ เคยมีกรณีที่พ่อของคนไข้ห้ามคนไข้รายนี้เล่นเกม คนไข้จึงตอบโต้ด้วยการทุ่มคอมพิวเตอร์ทะลุหน้าต่างบ้านออกมาเลยทีเดียว


“คนไข้เข้ารับการรักษาอาการติดเกมเพราะถูกผู้ปกครองนำมารักษา ตอนแรกรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเป็นคนไข้ใน พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหนึ่งเดือน แต่แม่ของคนไข้แอบไปพาออกมา จากนั้นก็กลับไปเป็นคนไข้นอกที่โรงพยาบาลศิริราช และทางโรงพยาบาลศิริราชก็ได้ส่งต่อมายังสถาบันฯ” นพ.อาทิตย์กล่าว


ด้าน นพ.อังกูรได้เผยผลการสังเกตอาการผู้ป่วยว่า ในความเป็นจริงแล้วอาการติดเกมของคนไข้กรณีตัวอย่างนี้ น่าจะมาจากการที่ไม่อยากทำอะไรและไม่มีอะไรจะทำมากกว่า เพราะจากการสังเกตพบว่าแม้กระทั่งแนวทางการบำบัดรักษาอาการติดเกมของพ่อและแม่เองก็ยังสวนทางกัน


“คือคุณพ่อคนไข้เข้มงวดมาก ในขณะที่แม่คนไข้ก็ตามใจคนไข้มากเช่นกัน ทำให้พ่อแม่ทะเลาะกันเอง พ่อก็โทษว่าเป็นเพราะแม่ตามใจลูกก็เลยเสียคนกลายเป็นเด็กติดเกม แล้วก็ทำให้มีปากเสียงทะเลาะและลงไม้ลงมือกัน


สำหรับคนไข้นั้นเราสังเกตว่าคนไข้ชอบที่จะใช้ชีวิตอยู่บนเก้าอี้ล้อเลื่อน มีความสุขอยู่กับการนั่งอยู่บนนั้นและใช้เท้าถีบให้เก้าอี้เลื่อนไปเลื่อนมา เช่นตื่นนอนก็จะลุกจากเตียง นั่งเก้าอี้ เลื่อนไปมา แล้วก็ถีบตัวเองไปเอาข้าวหน้าห้องที่พี่เลี้ยงเอามาให้ กินข้าวบนเก้าอี้ หันซ้ายหันขวาไม่รู้จะทำอะไรก็เปิดคอมพิวเตอร์เล่นเกม คือไม่ใช่ชอบเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่รู้จะทำอะไรก็เลยเล่นเกม รู้สึกว่าดีกว่าจะทำอย่างอื่น”


นพ.อังกูรเผยถึงอุปสรรคตอนแรกของการบำบัดรักษาว่า ความเห็นที่เห็นไปคนละทางของพ่อและแม่ของคนไข้ก็มีส่วนอยู่เหมือนกัน และซ้ำยังมีการทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดเวลา รวมกับการโทษว่าอีกฝ่ายเป็นต้นเหตุของปัญหา


“อย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงประการแรกเมื่อเกิดปัญหาสมาชิกในบ้านติดเกมแบบนี้ก็คืออย่าโทษกันว่า แต่ควรจะหันหน้าหากันปรึกษากันเพื่อหาทางแก้ไขจะดีที่สุด หากมัวแต่โทษกัน ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และก็จะเกิดปัญหาครอบครัวตามมาอีกด้วย”


“แต่อย่างไรก็ตาม จากการบำบัดรักษาคนไข้รายนี้มาตั้งแต่เดือนมีนาคมจนขณะนี้ อาการคนไข้ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว” นพ.อาทิตย์ให้ข้อมูล


ด้าน นพ.อังกูรยังได้เสนอผลการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดเกมต่อไปอีกว่า เกมที่ได้รับความนิยมจากบรรดาเกมเมอร์และที่ผู้ที่มีปัญหาติดเกมนิยมเล่นมากได้แก่ ปังย่า,แร๊กนาร็อก,มิว และวอร์คราฟต์ เป็นต้น และที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในชุมชนที่มีประชาชนอยู่กันหนาแน่นอย่างกรุงเทพมหานครนั้น มีบ้านกว่า59.8% ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีร้านเกมคาเฟ่ 2 ร้านอยู่ใกล้ๆ ที่สามารถเดินมาใช้บริการได้โดยง่าย และมี 5แห่งที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง


“และการข้อมูลการสำรวจจาก NECTEC ปรากฏว่า เด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปกับการเล่นเกม”


นพ.อังกูรกล่าวต่อไปอีกว่า ผลเสียจากการเล่นเกมนั้น มีมากชนิดที่พ่อแม่บางคนนึกไม่ถึง กล่าวคือการติดเกมจะก่อให้เกิดภาวะความเสื่อมของสุขภาพ ตาเสียจากการเพ่งจอ กระดูกข้อ กล้ามเนื้ออักเสบจากการนั่งท่าเดียวเป็นเวลานานๆ ข้อติด มีอาการปวดคอ หลัง ไหล่ ก้นกบ และนอกจากจะทำให้สุขภาพกายแย่ลงไปแล้ว การติดเกมยังทำให้สุขภาพจิตใจเสื่อมลงไปด้วย เพราะการติดเกมจะทำให้อารมณ์ก้าวร้าว


“การติดเกมกับการติดยาเสพติดคล้ายกัน เพราะเกมสมัยนี้เป็นเกมที่มี Level คือมีด่านที่มีความยากมากขึ้น เหมือนกับการติดยาเสพติดที่ผู้ติดก็ต้องการปริมาณยาที่มากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าการติดเกมกับติดยานั้นไม่หนีห่างจากกันเท่าไหร่ เพราะเท่าที่พบนั้นส่วนใหญ่คนพวกนี้จะมีครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ขาดการเอาใจใส่ ขาดวินัย หรือมีการตามใจจนเกินเหตุ ส่วนเด็กที่ติดเกมนั้นส่วนใหญ่ก็เพราะมาจากการขาดการยอมรับ การรู้สึกว่าไม่มีตัวตนในครอบครัวหรือในสังคมและเป็นคนไร้ค่า แต่เด็กเหล่านี้รู้ว่าถ้าเล่นเกมเก่งแล้วจะกลายเป็นฮีโร่ในโลกไซเบอร์ สังคมเสมือนจริง จนกลายเป็นคนที่ได้รับการยอมรับในสังคมออนไลน์ที่มีลักษณะเป็นการเสพติดการเล่นและการยอมรับแบบนี้ไป”


สุดท้ายคุณหมอท่านนี้ได้แนะนำวิธีการป้องกันและแก้ไขกรณีเด็กติดเกมแบบง่ายๆ ก็คือ ควรจะให้การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของลูกอยู่ในสายตาพ่อแม่ เช่นเอาคอมพิวเตอร์ไว้กลางบ้าน ที่ที่สามารถสอดส่องพฤติกรรมลูกได้ เมื่อเห็นอะไรไม่ถูกไม่ควรก็ตักเตือนแต่อย่าดุด่าว่ากล่าวหรือใช้ความรุนแรง และถ้าหากลูกมีนิสัยชอบเล่นเกมก็ควรจะดูแลเนื้อหาของเกมไม่ให้ก้าวร้าวรุนแรงจนเกินไป และควรมีข้อตกลงระหว่างกันในครอบครัวว่าควรจะเล่นในปริมาณมากน้อยแค่ไหน กำหนดชั่วโมงที่สามารถเล่นได้โดยไม่เสียการเรียนและไม่เสียสุขภาพ พยายามเอาใจใส่และให้เวลาซึ่งกันและกันในครอบครัว


แต่ถ้าหากเกิดปัญหาการติดเกมขึ้นในครอบครัวแล้ว ก็ควรจะขอรับคำแนะนำและหาทางแก้ไขจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และพยายามแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ





บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv