23 พฤษภาคม 2550

 

อนิจจา!ชีวิตทันสมัยไฮเทคสองคม กิมจิลุยสกัดเว็บยั่วยุคนฆ่าตัวตาย


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 พฤษภาคม 2550 10:10 น.



ยูนิ หนึ่งในคนบันเทิงอีกคนของเกาหลีใต้ ที่ตัดสินใจตัดช่องน้อยแต่พอตัวเมื่อเร็วๆ นี้


เฮรัลด์ ทรีบูน – ภายในออฟฟิศธรรมดาๆ บนชั้น 6 ของอาคารแห่งหนึ่ง คิมฮีจูกับเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์อีก 5 คน ท่องอินเทอร์เน็ตเพื่อต่อสู้กับเทรนด์อันตรายของเกาหลีใต้ในวันนี้ คือการที่คนกลุ่มหนึ่งใช้เว็บไซต์เป็นจุดแลกเปลี่ยนข้อแนะนำหรือทำข้อตกลงฆ่าตัวตายหมู่

ต้นเดือนที่แล้ว มีผู้พบศพหญิงสาว 2 คนในอพาร์ตเมนต์แบบห้องเดียวทางใต้ของโซล ทั้งคู่ปิดประตูหน้าต่างทุกบาน และใช้เทปติดช่องทางต่างๆ ไม่ให้อากาศถ่ายเทเข้าออก ก่อนติดเตาเผาถ่านและสูดดมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พิษจนเสียชีวิต หญิงสาวทั้ง 2 คนพบกันในเน็ต

กลางเดือนมีนาคม หนุ่มสาว 5 คนที่พยายามฆ่าตัวตายหมู่มาแล้ว 2 ครั้ง ขับรถไปโรงแรมชายหาดเพื่อปรึกษาหาวิธีปลิดชีพใหม่ๆ โชคดีที่มีคนหนึ่งเปลี่ยนใจและเรียกตำรวจไปช่วย คนกลุ่มนี้เจอกันในเน็ตเช่นเดียวกัน

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้แปรสภาพจากหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำที่สุดในโลกเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติดังกล่าวสูงที่สุด ปี 2005 แดนกิมจิมีสถิติการฆ่าตัวตาย 24.7 คนต่อประชากร 100,000 คน (สูสีกับญี่ปุ่น) โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 6,440 คนในปี 2000 เป็น 12,047 คนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า สาเหตุมาจากความเครียดของชีวิตสมัยใหม่ รวมถึงบทบาทของอินเทอร์เน็ต โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์สูงสุดในโลก และอินเทอร์เน็ตกลายเป็นจุดนัดพบที่นำคนที่คิดฆ่าตัวตายมาพบกัน

ในช่วงเวลากว่าหนึ่งชั่วอายุคนเล็กน้อย เกาหลีใต้ผ่องถ่ายตัวเองจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมไฮเทคที่มีการแข่งขันสูง ความกดดันให้ไขว่คว้าหาความสำเร็จเริ่มต้นกันตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงชีวิตการทำงาน

ขณะเดียวกัน สถาบันครอบครัวกลับอ่อนแอลง อัตราการหย่าร้างพุ่งทำสถิติสูงสุด การรับประกันการจ้างงานตลอดชีพหายไปพร้อมกับการมาถึงของวิกฤตการเงินเอเชียในทศวรรษที่แล้ว

2 ปีก่อน เด็กมัธยมชุมนุมประท้วงกลางกรุงโซล โดยร้องตะโกนว่า “เราไม่ใช่เครื่องจักรการเรียน!” เด็กเหล่านี้มารวมตัวกันเพื่อไว้อาลัยให้กับนักเรียน 15 คนที่ฆ่าตัวตายเพราะความกดดันเรื่องการเรียน

แม้ไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการของการฆ่าตัวตายที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นตัวช่วย แต่จากการวิเคราะห์กลุ่มฆ่าตัวตาย 191 กลุ่มที่สื่อมวลชนรายงานระหว่างเดือนมิถุนายน 1998 ถึงเดือนพฤษภาคม 2006 พบว่าตัวเลขเพิ่มขึ้น 3เท่าจากปี 2003

นับจากปี 2005 เว็บท่าแดนอารีดังถูกกดดันจนต้องห้ามไม่ให้ผู้ใช้ใช้คำบางคำ อาทิ ‘การฆ่าตัวตาย’ และ ‘ความตาย’ ในการตั้งชื่อบล็อก และหากผู้ใช้คีย์หาคำว่า ‘การฆ่าตัวตาย’ เสิร์ชเอนจินจะลิงก์ไปที่ศูนย์ให้คำปรึกษาทันที

“ฉันอยากฆ่าตัวตาย” วัยรุ่นคนหนึ่งโพสต์ไว้ในเว็บยาฮู! เวอร์ชันเกาหลี พร้อมบ่นว่าถูกเพื่อนที่โรงเรียนรังแก แถมพ่อแม่ยังจ้ำจี้จ้ำไชให้ปรับปรุงการเรียน “ฉันมีเงินแค่ 30,000 วอน มีใครพอจะขายยาพิษให้ได้ไหม? ฉันไม่อยากตายแบบเจ็บปวดทรมานอย่างเช่นกระโดดตึก”

ข้อความแนวๆ นี้หาได้ไม่ยากตามบุลเลอทินบอร์ดของเว็บท่าใหญ่ๆ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนุ่มวัย 28 ปี ที่เปิดบล็อกเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในชื่อ ‘การเดินทางสู่สวรรค์’ ถูกจับกุมหลังขายโปแทสเซียมไซยาไนด์ให้เด็กชายอายุ 15 ปีที่เจอกันในเน็ต และเด็กคนนั้นใช้สารพิษดังกล่าวฆ่าตัวตาย

ขณะเดียวกัน ทางการโซลลุกขึ้นมาออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ เนื่องจากเกือบ 40% ของคนเกาหลีที่ฆ่าตัวตาย ใช้วิธีดื่มยาฆ่าแมลงหรือกระโดดจากที่สูง รัฐบาลจึงกำลังพิจารณาเพื่อกำหนดให้ยาฆ่าแมลงเป็นพิษน้อยลง รวมทั้งติดตั้งเครื่องกีดขวางบนดาดฟ้าหรือสะพาน

โซล เมโทรเริ่มสร้างผนังกระจกบนชานชาลาสถานีรถไฟใต้ดิน หลังจากมีคน 95 คนกระโดดตัดหน้ารถไฟใต้ดินในปี 2003 รัฐบาลยังมีแผนติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดในรถไฟ เพื่อให้คนขับตรวจสอบสภาพชานชาลาก่อนนำรถเข้าสู่สถานี

ปี 2005 คณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล สั่งปิดบล็อกหรือเว็บท่า 566 แห่งที่ชักชวนผู้ใช้ฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นจาก 93 แห่งในปีก่อนหน้า จำนวนเว็บท่าหรือบล็อกที่ถูกสั่งปิดลดลงเหลือ 147 แห่งในปี 2006 ก่อนดีดกลับอีกครั้งเป็น 161 แห่งในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้

แต่ละเดือน ทีมป้องกันการฆ่าตัวตายของคิมฮีจูค้นพบเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายเฉลี่ย 100 แห่ง และขอให้เว็บท่าลบบล็อกเหล่านั้นทิ้ง บล็อกเหล่านี้บางแห่งมีข้อความรุนแรงพอจะแจ้งตำรวจจับ ข้อหาละเมิดกฎหมายห้ามการช่วยเหลือเพื่อให้มีการฆ่าตัวตายหรือแลกเปลี่ยนสารอันตราย

“แต่ก่อนผู้ใช้จะใช้บล็อกชื่อออกแนวอย่าง ‘มาตายด้วยกันเถอะ’ แต่ตอนนี้คนเหล่านั้นระวังมากขึ้น หลังจากเจอกันแล้ว พวกเขาจะปิดไซต์และเปลี่ยนมาใช้อีเมลหรือติดต่อกันทางมือถือแทน เราต้องเสิร์ชกันมากขึ้น รวมทั้งอาศัยสัญชาติญาณและโชคช่วยในการตามหาคนเหล่านี้”

เมื่อเร็วๆ นี้ทีมของคิมเพิ่งพบบล็อกชื่อ 'ชีวิตแสนลำบาก' โดยเจ้าของบล็อกโฆษณาว่า เป็นจุดนัดพบสำหรับผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ไซต์นี้ดึงดูดคนมากมายที่มาทิ้งเบอร์มือถือและที่อยู่อีเมลไว้ติดต่อกับคนที่ ‘อยากเดินทางด้วยกัน’

ตอนนี้ตำรวจกำลังตามล่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังบล็อกดังกล่าว เพื่อนำตัวมาสอบสวนและอาจถูกดำเนินคดีข้อหาช่วยให้ผู้อื่นฆ่าตัวตาย ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

"มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คนบางคนเลยอยากมีเพื่อนตายพร้อมๆ กัน” เจสัน ลี ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตมหานครในโซล บอก

ศูนย์แห่งนี้มีผู้ขอคำปรึกษาทางโทรศัพท์หรือทางเน็ตเฉลี่ยเดือนละ 600 ราย ในจำนวนนี้มี 15% ที่เสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตาย ที่น่าสังเกตคือ จำนวนผู้ขอคำปรึกษาพุ่งพรวดภายหลังการฆ่าตัวตายของศิลปินหญิง 3 คนเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งรวมถึงจองดาบิน นักแสดงวัย 27 ปี ที่ผูกคอตายเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ก่อนการเสียชีวิตวันเดียว จองทิ้งข้อความไว้ในเว็บไซต์ส่วนตัว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า น่าจะสื่อถึงการฆ่าตัวตาย โดยดาราสาวตั้งคำถามทิ้งไว้ว่า พระเจ้ากำลังรอคอยเธออยู่หรือไม่

บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv