03 เมษายน 2550

 

เด็ก ม.ต้นคลั่งเกมหนัก ห่วงปิดเทอมเด็กเล่นเกมงอมแงม


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 3 เมษายน 2550 15:22 น.

ห่วงปิดเทอมเด็กติดเกมหนัก เด็กมัธยมต้นคลั่งสุด แถมอายุลดต่ำลงเรื่อยๆ ระบุมีเด็กติดเกม 1 ใน 5 คน แนะตัดไฟแต่ต้นลมสังเกตพฤติกรรม อย่ารอให้เด็กติดงอมแงม ขณะที่ “กรมสุขภาพจิต” แจก “คู่มือพ่อแม่ดูแลลูกยุคไซเบอร์” สกัด 2,000 ชุดฟรี ระบุแนะ 10 ข้อปฏิบัติป้องกันแก้ปัญหาเด็กติดเกม–อินเทอร์เน็ต ชี้ได้ผล 80-90% ลูกเล่นเกมน้อยลง ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น

วันนี้ (3 เม.ย.) นพ.หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาเด็กติดเกมและอินเทอร์เน็ตทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 จึงให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม และอินเทอร์เน็ตขึ้น เพื่อพัฒนางานด้านวิชาการในรูปแบบการอบรมหลักสูตรต่างๆ ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งล่าสุดมีการพัฒนาเพทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองสำหรับพ่อแม่ในรูปแบบของวีซีดี ความยาว 30 นาที พร้อมคู่มือพ่อแม่ดูแลลูกยุคไซเบอร์ ที่บรรจุเนื้อหาวิธีการปฏิบัติของพ่อแม่อย่างง่ายๆ แต่ได้ผล 10 วิธี ได้แก่

1.การสร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเล็ก 2.ลดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต 3.ใช้มาตรการทางการเงิน 4.ฟังและพูดดีต่อกัน 5.จับถูกชื่นชม ให้กำลังใจ 6.ร่วมตกลงกติกาอย่างเป็นรูปธรรมและบังคับใช้อย่างหนักแน่นแต่อ่อนโยน 7. มีทางออกให้สร้างสรรค์ให้เด็ก 8.สร้างรอยยิ้มเล็กๆ ในครอบครัว 9.ควบคุมอารมณ์และสร้างความสุขเล็ก ในใจของพ่อแม่เอง และ 10.เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราทันที

“ยิ่งในช่วงปิดเทอม เป็นช่วงที่เด็กจะใช้เวลาอยู่กับเกมคอมพิวเตอร์มากที่สุด ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครองมีปัญหาลูกติดเกมสามารถที่จะนำข้อปฏิบัติ 10 ข้อนี้ไปใช้ ซึ่งพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนเมื่อนำไปปฏิบัติจริงแล้วจะช่วยให้ลูกเลิกเล่นเกมลดลง บางคนลูกสามารถควบคุมการเล่นเกมได้ มีความรับผิดชอบ ไม่ก้าวร้าว การพูดจา ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น” นพ.หม่อมหลวงสมชาย กล่าว

ด้าน นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า นอกจากนี้ได้ร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์พัฒนาเครื่องมือคัดกรองเด็กติดเกมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยพัฒนาเป็นแบบคัดกรองง่ายๆ 16 ข้อ มีทั้งฉบับพ่อแม่ประเมินพฤติกรรมลูกของตนเองว่าคลั่งไคล้หรือติดเกมหรือไม่ และฉบับเด็กและเยาวชน เพื่อใช้ประเมินว่าตนเองคลั่งไคล้หรือติดเกมอยู่ในระดับไหน หมกหมุ่นมากน้อยหรือไม่ เยงใด เล่นเกมจนเสียการควบคุมตนเองกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ การอยู่ร่วมกันในครอบครัว

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า เมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการทำแบบคัดกรองสำรวจผู้ปกครองจำนวน 1,600 รายทั่วประเทศและเด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงมหาวิทยาลัย 1,400 คนทั่วประเทศ พบว่าเด็กในกลุ่มที่มีความคลั่งไคล้เล่นเกมวันละ 2-3 ชั่วโมง แบ่งเป็นชาย 11.2% เด็กหญิง 9.2% ส่วนกลุ่มที่มีเด็กติดมาก เล่นเกมวันละไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง แบ่งเป็นชาย 3.8% เด็กหญิง 4.3% ซึ่งรวมแล้วจะมีเด็กกลุ่มที่มีปัญหาติดเกมประมาณ 15% ดังนั้นในจำนวนเด็ก 5 คน จะมีเด็กที่ติดเกม 1 คน ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าเป็นเด็กในช่วงมัธยมต้นมากที่สุด ส่วนเด็กที่เริ่มติดเกมจะอยู่ที่ช่วงประถมศึกษาปีที่ 4-5 ซึ่งเมื่อมีการคัดกรองเด็กเรียบร้อยแล้วก็จะมีการเริ่มต้นไปสู่การเยียวยาแก้ปัญหา เช่น การอบรมผู้ปกครอง นำเด็กไปเข้าค่ายร่วมกัน เป็นต้น

“ติดเกมก็เหมือนติดยาเสพติด หากเริ่มซื้อเกมบอยให้เด็กก็เหมือนชักชวนให้เด็กสูบบุหรี่ เกมเพลสเตชันก็เหมือนกัญชา เกมคอมพิวเตอร์ก็เหมือนติดยาบ้า หากพัฒนาไปเป็นเกมออนไลน์ก็เหมือนติดเฮโรฮีน ยิ่งปล่อยไว้นานยิ่งแก้ยาก ดังนั้น ควรจะรีบแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นหากเห็นว่าเด็กเริ่มเล่นเกมนานมากขึ้น ไม่ต้องถึง 2 ชั่วโมงต่อวันก็ควรเข้าไปดูแลลูกได้เลย”นพ.ชาญวิทย์ กล่าว

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำ 10 ข้อปฏิบัติมาใช้ถือเป็นการปลูกฝังวินัยให้กับเด็ก หากจะเล่มเกมเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินนั้นสามารถทำได้ แต่จะต้องมีการควบคุม คือ เล่นเกมได้แต่ต้องคุมตัวเองได้ไม่ให้ไปกระทบการเรียน หรือการทำงาน โดยเริ่มต้นที่ตัวของพ่อแม่เอง โดนจะต้องมีวินัย ฝึกฝนการควบคุมตนเอง ควบคุมอารมณ์ ไม่ให้ลูกเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ง่าย อาจจำกัดคอมพิวเตอร์หากมีลูก 2 คน ก็มีคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว เด็กจะมีการแบ่งปันกันตามธรรมชาติ และมีปัญหาน้อยกว่า ส่วนการป้องกันเด็กใช้อินเทอร์เน็ตนอกบ้านก็ควรมีการจำกัดเงินค่าขนมไม่ให้มากจนเกินไปเมื่อเด็กมีเงินมากก็นำเงินไปเล่นเกมได้มาก ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ พบว่าหากพ่อแม่พูดจาดี หลายครอบครัวลูกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและยอมให้ความร่วมมือ ในกติกาที่ตกลงกันในครอบครัว และเมื่อลูกทำดีก็รู้จักชมเชยให้กำลังใจด้วย

“พ่อแม่ต้องมีกิจกรรมทางเลือกอื่นๆ ให้แก่เด็ก โดยเฉพาะเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจ เช่น กีฬา ศิลปะ ดนตรี เพราะเด็กที่เล่นเกมต้องการที่ชนะได้รับเสียงปรบมือและความภาคภูมิใจเมื่อชนะได้ ขณะที่บางครอบครัวเด็กติดเกมเพราะพ่อแม่ทะเลาะกัน เด็กจึงหลีกหนีไปอยู่ในโลกเล็กๆ ที่มีความสุขกับเกม ดังนั้น หากต้องการให้ลูกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พ่อแม่ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้ คุมอารมณ์ตนเองให้ได้ด้วยเช่นกัน” นพ.บัณฑิต กล่าว

นางจินตนา เจริญสุข ตัวแทนผู้ปกครอง ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ครอบครัวเหมือนมีสงครามในบ้าน ชีวิตเริ่มไม่มีความสุข ปิดเทอมแต่ละครั้งเหมือนตกนรก เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรกับลูกดี ซึ่งตั้งแต่ ป.1 ก็ซื้อคอมพิวเตอร์มาให้ลูกเพราะเห็นว่าโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ และมีความจำเป็น จนลูกวัยชายติดเกมมากขึ้น พอบอกเตือนลูกก็ไม่ฟัง ยิ่งช่วง ป.4-ป.5 ยิ่งเล่มเกมอย่างหนักทำให้เกรดเฉลี่ยที่เคยอยู่ที่ 3 ตกลงเหลือ 1 จึงส่งลูกเรียนกวดวิชา แต่ก็ไม่ดีขึ้น เพิ่งมารู้ว่า ที่โรงเรียนลูกเรียนไม่รู้เรื่องเพราะวันทั้งวันเห็นแต่ภาพเกม มองกระดาษดำก็เป็นเห็นเป็นสีเลือดไปหมด คิดแต่จะทำอย่างไรให้ชนะเกมได้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่ในที่สุดก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้เพราะได้เข้ามาอบรม และร่วมกิจกรรมค่าย กับทางสถาบันฯ และได้รับกำลังใจจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากที่ได้เข้า ก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าลูกจะต้องเลิกเล่นเกมแต่ขอให้มีการพูดคุยกับลูกได้มากขึ้น ซึ่งลูกดีขึ้นมาก มีความเปลี่ยนแปลง เราได้เปิดอกคุยกันอย่างเต็มที่ และทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันและไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก

นพ.บัณฑิต เสริมว่า ขณะนี้มีการเปิดค่ายบำบัดเด็กติดเกมในช่วงปิดเทอมให้กับเด็กที่มีปัญหากว่า 1,000 คนแล้ว ซึ่งจากการติดตามผลพบว่า 80% พฤติกรรมเด็กดีขึ้น รวมทั้งมีการอบรมพ่อแม่ไปแล้ว 4 รุ่น รุ่นละ 80-100 คน ทำให้บางครอบครัวเด็กเล่นลดลงหรือไม่เล่นเลย ครอบครัวมีความสุขและสบายใจขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถขอรับคู่มือพ่อแม่ดูแลลูกยุคไซเบอร์ ซึ่งมีจำนวนจำกัด 2,000 ชุดได้ฟรี ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในวันและเวลาราชการ หรือเขียนจดหมายจ่าหน้าซองถึงตัวเอง พร้อมติดแสตมป์ 9 บาทบนซองขนาดเอ 4 ใส่ซองมาที่ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เลขที่ 75/1 ถ.พระราม 6 เขตราชเทวี กทม.10400 หรือสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2354-8305-7 ระหว่างวันที่ 3-12 เมษายนนี้ และดูรายละเอียดได้ที่ www.icamtalk.com

ความคืบหน้าล่าสุด นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ (3 เม.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก กำหนดห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด ในขณะที่รถเคลื่อนที่ หลังจากการหารือแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.จราจร ซึ่งเสนอโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารขณะขับรถ ยังขาดสถิติอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ จึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไปเพิ่มเติมข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งปรับเปลี่ยนถ้อยคำในร่าง พ.ร.บ.นี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วนำกลับมาเสนอใหม่อีกครั้ง โดยร่าง พ.ร.บ.ที่นำเสนอวันนี้ มีผู้ชี้แจง 3 คน ซึ่งเป็นคนละชุดกับที่เคยชี้แจงกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในความเห็นส่วนตัว ตนคิดว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีประโยชน์ เพราะโทษที่เกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถมีมาก โดยในบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ห้ามใช้แล้ว

บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv