13 กุมภาพันธ์ 2550

 

โลกไซเบอร์ไทยน่าห่วง สถิติวัยโจ๋ดูหวิวผ่านเน็ตพุ่ง


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 กุมภาพันธ์ 2550 09:13 น.
ภาพจากเว็บบีบีซี

ทรูฮิต เผยชาวไซเบอร์ ใช้คีย์เวิร์ด “เซ็ก-เซ็กส์-SEX” ผ่านกูเกิลร่วม5 แสนครั้งต่อเดือน แอบถ่าย 4 ล้านครั้งต่อเดือน แคมฟรอก สิ้นธันวาคม ค้นหาร่วม 2 แสนครั้งต่อเดือน ด้าน สสส. ห่วงสถานการณ์เยาวชน มุ่งหาสื่อลามกมากกว่าเรียนรู้ อ่านผ่านเน็ต ถึง45% วอนผู้ปกครองเร่งเรียนรู้ไอทีมากขึ้น และ ยกคอมพิวเตอร์ออกจากห้องนอนลูก มาไว้กลางบ้าน พร้อมนำโปรแกรมตรวจสอบป้องกันติดลงพีซี

ทีเค ปาร์ค ได้จัดเสวนา ‘Road Map อินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ในประเทศไทย” โดยมีองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนา ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม และ ภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางรวมมือต้านภัยออนไลน์ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

นายปิยะ ตัณฑวิเชียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยพัฒนาพัฒนาบริการ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ หรือ สบทร. ซึ่งเป็นหน่วยงานบริการตรวจสอบ และประมวลผลสถิติการเยี่ยมชมเว็บไซต์ประเทศไทยหรือบริการ "ทรูฮิต" กล่าวว่า ประเภทกลุ่มคำค้นหา เซ็ก, เซ็กส์, SEX ผ่านใช้งานเซิร์ชเอนจิ้น หรือ ตัวช่วยการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ เช่น กูเกิล ของประเทศไทย มียอดเฉลี่ย 5 แสนครั้งต่อเดือน คำว่าแอบถ่าย มีสถิติเติบโตขึ้น จากปี 49 มียอดการค้นหา ถึง 4 ล้านครั้งต่อเดือน และยังมีแนวโน้มการค้นคำกลุ่มคำเหล่านี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจุดนี้ได้ชี้ถึงถึงปัญหาของสังคมไทยในการใช้งานในแง่มุมที่ผิด หรือ ใช้เครื่องมือในทางที่ไม่เหมาะสมในการเข้าศึกษาข้อมูลเนื้อหาบนสังคมออนไลน์ อินเทอร์เน็ต

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ไอซีที กระทรวงศึกษา หารือกับผู้ให้บริการกูเกิล ส่วนประเทศไทย ในการช่วยสร้างตัวกรองคำ ค้นหา เพื่อให้เยาวชนไม่สามารถนำคำเหล่านี้มาค้นหาเพื่อนำไปสู่การเข้าเว็บลามกได้ เพราะการเข้าเว็บแบบนี้ ก็มาจากการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด ขนาดแคมฟรอก ตอนเดือนมกราคมมียอด แค่ 49 ครั้ง แต่พอสิ้นเดือนธันวาคม มีถึง 2 แสนกว่าครั้ง โดยยอดแต่เดือนโตถึง 30-40%”

น.พ.กฤษฎา เรืองอารีรัตน์ รองผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้สื่อทางอินเทอร์เน็ตได้เริ่มมีบทบาทต่อเยาวชนไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นผลจากขยายตัวการใช้งาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นผลดีในด้านการชี้วัด แต่ในอีกมุมหนึ่ง ยังมีปัญหาอย่างยิ่งในสังคมไทย ที่เยาวชนมีการนำไปใช้งานในเชิงไม่สร้างสรรค์ ด้วยการเข้าใช้งานอ่านเนื้อหาด้านเพศ หรือ ดูเนื้อหาลามกอนาจาร มากกว่าการเข้าใช้งานเพื่อการเรียนรู้ โดยข้อมูลจากผลสำรวจได้พบว่า มีการดูสื่อลามกผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นจำนวน 45% จากวีซีดี 22.2% และ หนังสือโป๊ 13.4%

“น่าเป็นห่วงนะในเรื่องการใช้งาน ที่ผู้ปกครองไม่ตระหนักกับเรื่องการใช้งานมากนัก ถึงแม้จะมีการส่งเสริมให้มีการใช้งาน หรือ มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้บ้าน แต่ผู้ปกครองกลับปล่อยปละละเลยในการใช้งาน คือ ให้ใช้งานแบบอิสระ ขาดการดูแลเอาใจใส่ หรือให้ความสำคัญต่อการใช้งานซึ่ง จากผลสำรวจ พบว่า มีการนำคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอนหรือห้องส่วนตัวของเด็ก48.7% ผู้ปกครองมีความรู้ในเรื่องการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต 17% ไม่รู้ หรือ เข้าใจ ถึง 80%”

ทั้งนี้เรื่องการควบคุมในการใช้งาน หากผู้ปกครองให้ความสำคัญดูแลเอาใจใส่และให้การชี้แนะที่ถูกต้อง จะมีผลดีตามมาในแง่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี การป้องกันเหตุอาชญากรรม การถูกล่อลวงทางเพศ หรือ การเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในทางที่ผิด

ปัจจุบันจำนวนสถิติของเด็กเยาวชน ช่วงอายุ 1-19 ปี ที่ตั้งครรภ์จากที่ได้มีการสำรวจทั่วโลก ประเทศไทยได้ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ในแถบเอเซีย ซึ่งในแต่ละปีมีเยาวชนหญิงเป็นจำนวนมากต้องออกจากการเรียนในช่วงเวลาศึกษา และ ส่งผลต่อจำนวนการเพิ่มยอดผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว โดยเป็นกลุ่มนี้เกือบ 50%

ปัญหาจากภัยอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน นั้นได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากผลสำรวจของเอแบคโพลล์ เมื่อเร็วๆนี้ พบว่า เยาวชนกว่า 60% ในพื้นที่ กทม. เคยพบเห็นภาพ และสื่อลามกบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งกว่าครึ่งยังเห็นว่าเรื่องสื่อลามกบนอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องธรรมดาที่รับได้

ส่วนการรับรู้แหล่งภาพโป๊/เว็บโป๊ มีการรับรู้โดยบังเอิญ 52.5 %เพื่อนแนะนำ 46.2% ค้นหาจากเว็บไซต์บริการค้นหาข้อมูล 24.9% ได้รับรู้จากทางอีเมล์ 24.6% ผ่านเว็บบอร์ด /กระทู้ 21.6% นิตยสาร/หนังสือ 10.1% และ รับรู้จากผู้ใหญ่ 2.4 % โดยเกือบ70% เคยสนทนาออนไลน์กับคนที่ไม่รู้จัก และ บางส่วนก็ลงเอยด้วยการนัดพบในสถานที่จริง ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงทำร้าย ชิงทรัพย์ ดังที่ปรากฎให้เห็นผ่านสื่อเป็นระยะ

Road Map อินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ในประเทศไทย จะเป็นการกระจายบทบาทหน้าที่ในด้านความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา การเฝ้าระวัง การป้องกัน การให้ความรู้ โดยมี 4 ส่วน คือ 1.ขจัดร้าย ด้วยการออกกฎหมาย ในระบบเฝ้าระวังและปิดกั้น 2. ขยายดี ด้วยการ ผลิตสื่อสร้างสรรค์ ให้การเรียนรู้ สร้างชุมชนการใช้งาน 3. สร้างภูมิ ด้วยการรณรงค์ในการด้านปัญหา-รู้เท่าทันภัย การใช้งาน ในกลุ่มผู้ปกครอง การสร้างหลักสูตร และ 4.สนับสนุน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ กองทุน และสร้างเครือข่าย โดยแผนนี้จะมีการนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการต่อเรื่องดังกล่าวโดยทราบถึงบทบาทหน้าที่ในความร่วมมือ และจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv