11 มกราคม 2550

 

แคมฟรอก : เทคโนโลยีใหม่ในค่านิยมเดิม

www.saijai.net โทร.0-2886-9991ที่มาข่าวจาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เสาร์ที่ 5 มกราคม 2550

ในรอบปีที่ผ่านมามีข่าวดังๆ ต่อเนื่องอยู่ไม่กี่ข่าว ถ้าในประเด็นการเมืองคงไม่พ้นข่าวการปฏิวัติล้มรัฐบาลทักษิณและข่าวคลื่นใต้น้ำ แต่สำหรับข่าวสังคมกลับไม่พ้นเรื่องเพศเช่นเคย โดยเฉพาะ เรื่องเพศของวัยรุ่นหญิง เพราะตลอดทั้งปี 49 มีการเสนอข่าว "โคโยตีบุกวัด" บ้าง "คลิปวิดีโอโป๊ระบาด" บ้าง "พริตตี้นุ่งน้อยห่มน้อยโปรโมทรถยนต์" และล่าสุดส่งท้ายปีคือข่าว "แคมฟรอกโชว์ หวิว" ที่เป็นชุมชนของวัยรุ่นที่นิยมการสื่อสารและแสดงตัวตนในแบบออนไลน์ และกลายมาเป็นข่าวดังจนได้
เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมออกมาแสดงความวิตกกังวลที่วัยรุ่นกำลังคลั่งไคล้การชมหรือ โชว์สัดส่วนผ่านโปรแกรมแคมฟรอก ข่าวเรื่องเพศดังกล่าวมักจะถูกสื่อและหน่วยงานรัฐเสนอในฐานะปรากฏการณ์สังคมเสื่อม สังคมทรามมาโดยตลอด น่าสนใจว่าทำไมพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิงมักถูกใช้เป็นตัววัดระดับ ศีลธรรมของสังคมมากกว่าพฤติกรรมทางเพศของผู้ชาย หรือมุมมองแบบนี้สะท้อนถึงบรรทัดฐานหรือความคาดหวังของสังคมที่มองว่าผู้หญิงควรอยู่รักษาระยะห่างกับเรื่องเพศทุกชนิด จึงจะถูกจัด อยู่ในกลุ่มผู้หญิงดี ส่วนลูกผู้ชายต้องเชี่ยวชาญในเรื่องเพศ มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน หรือมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ เพื่อแสดงความเป็นชายชาตรี แต่บรรทัดฐานเช่นนี้ก็นำไปสู่คำถามเช่นกันว่า เมื่อ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างพยายามปฏิบัติตัวตามความคาดหวังของสังคมแล้ว จะมีผู้หญิงดีหลงเหลืออยู่หรือ ในเมื่อผู้ชายก็พยายามจะแสดงตนว่าเป็นแมนเต็มตัว

ด้วยความห่วงใยในตัวผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งถูกมองว่ามีความเปราะบางไม่เท่าทันโลก ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อของโทรศัพท์ชนิดถ่ายรูปได้ หรือโปรแกรม แคมฟรอก และอีกสารพัดเทคโนโลยีที่ทะยอยกันเปิดตัวอย่างไม่มีวันจบสิ้น รัฐจึงมีกลไกที่ว่ากันว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้หญิง โดยการกันเรื่องเพศทุกชนิดออกจากตัวผู้หญิง เมื่อใดก็ตามที่เกิด สถานการณ์ที่วัยรุ่นไปข้องแวะกับเรื่องเพศ หน่วยเฝ้าระวังวัฒนธรรม (ทางเพศ) มักออกมาประนามหรือห้ามปรามเชิงขู่ ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นการไล่ตามปัญหาไปเรื่อยๆ สุดแล้วแต่จะมี ปัญหาหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ปรากฏขึ้น จนล่าสุดทำให้โปรแกรมแคมฟรอกซึ่งเดิมเป็นที่รู้จักในวงจำกัดกลายเป็น โปรแกรมโด่งดังจนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างเสาะแสวงหา และดาวน์โหลดไว้ใน คอมพิวเตอร์ของตัวเอง

จากเหตุการณ์คลิปวิดีโอถึงแคมฟรอก และพริตตี้ถึงโคโยตี มาตรการที่หน่วยเฝ้าระวังวัฒนธรรมใช้ยังคงเป็นมาตรการเดิมๆ คือ การประนาม ตำหนิเทคโนโลยี และผู้หญิง โดยไม่ ได้ขุดลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหาคือไม่ได้แตะต้องบรรทัดฐานทางเพศในสังคมไทยทั้งระบบเลย ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการที่ใช้กลับไปตอกย้ำบรรทัดฐานทางเพศหลายประการที่เป็นข้อกำหนด พฤติกรรมของผู้หญิงดี และชายชาตรี กลายเป็นการสร้างความหมายขึ้นมาชุดหนึ่งว่าเมื่อผู้หญิงไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศถือเป็นความเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
ความหมายที่พยายามสร้างกันขึ้นนั้น หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว คงต้องยอมรับว่ากลับไปซ้ำเติมผู้หญิงด้วยซ้ำ เพราะแม้กระทั่งเมื่อเกิดเหตุการลวนลามทางเพศขึ้น ไม่ว่าจะ เป็นการข่มขืน อนาจาร แอบถ่ายรูปเพื่อแบล็คเมล์ ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อกลับกลายเป็นฝ่ายที่รู้สึกอับอาย และรู้สึกผิด ถูกเพื่อนบ้าน ญาติมิตรหรือคนใกล้ชิดมองด้วยสายตาแปลกๆ และจับกลุ่ม ซุบซิบนินทา จนยากที่จะกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความห่วงใยโดยบริสุทธิ์ใจ แต่อาจขาดกระบวนทัศน์ที่รอบคอบในเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีของสังคมไทยนั้นก็ คงไม่สามารถโยนความรับผิดชอบให้ใครคนใดคนหนึ่งได้

การแก้ปัญหาในเรื่องนี้จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าปัญหาเรื่องเพศไม่ได้อยู่ที่พฤติกรรมทางเพศของคนใดคนหนึ่ง แต่ปัญหาอยู่ที่ระบบคิดของสังคมที่ได้รับการหล่อหลอมเข้าไปใน ระบบคิดของคนทุกเพศทุกวัย การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่มุ่งไปที่ตัววัยรุ่น หรือผู้หญิงเพียงเท่านั้น แต่ต้องไปแก้ที่วิธีคิดของทั้งสังคมตั้งแต่คนสูงอายุ ผู้ใหญ่ ไปจนถึงเด็ก ซึ่งอาจมีข้อโต้แย้งอยู่เหมือน กันว่า ปัจจุบันมีหลักสูตรสอนเพศศึกษาในโรงเรียนบางแห่งแล้ว แต่คงต้องประเมินว่าสามารถทำให้วัยรุ่นรู้เท่าทันเรื่องเพศได้จริงหรือไม่ หรือเป็นการสอนให้ท่องจำระบบชีววิทยา และต้องยอมรับ ว่า วัยรุ่นไม่ได้มีชีวิตอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มเพื่อนและการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ อย่างวัยรุ่นหญิงก็จะรับรู้ว่าต้องอวด "ผิวขาว สวย เนียน" ผ่านทางโฆษณาครีมบำรุงผิว หรือเรียนรู้ผ่านทาง ละครว่าคุณค่าของตนอยู่ที่การเป็นที่ต้องการของผู้ชาย ยิ่งได้เสพสื่อเหล่านี้ถี่เท่าไร ก็จะซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว

ค่านิยมเรื่องเพศของสังคมที่ถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งการแข่งขันประกวดความงามต่างๆ ล้วนเป็นการสื่อสารมายังผู้คนในสังคมว่า ภาพลักษณ์ที่ดีของผู้หญิงคือต้องสวยและ "มีดีก็ต้องโชว์" การจะไปพร่ำบอกวัยรุ่นว่าอย่าไปเชื่อสื่อเหล่านี้ ก็คงไม่มีน้ำหนัก เพราะการรับรู้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จะกลายเป็นการซึมซับว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นค่านิยมหลัก เช่นนี้แล้วสื่อกระแสหลัก หรือแคมฟรอกที่อันตรายต่อสังคมมากกว่า สื่อกระแสหลักที่เป็นแหล่งสร้างค่านิยมยังไม่เคยถูกปฏิรูป

ทั้งที่สื่อเหล่านี้ถูกเข้าถึงได้ง่ายยิ่งกว่าแคมฟรอกซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะเข้าใช้ได้ก็ต่อเมื่อมี เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มี กล้องติดตั้งอยู่ด้วย (ในกรณีที่ต้องการโชว์)และต่อพ่วงกับอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงย่อมยากกว่า การซื้อหนังสือพิมพ์หัวสีเล่มละแปดบาทที่มีรูปผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อย แผ่นวีซี ดีโป๊แผ่นละไม่กี่บาทที่มีวางขายทั่วไป หรือนิตยสารต่างๆ ตามแผงหนังสือทั่วประเทศ เหมือนเป็นดาบสองคมเพราะสื่อประชาสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วย ความหวังดีก็อาจมีผลด้านลบในการเรียนรู้เรื่องเพศได้ หากไม่ได้ออกแบบอย่างรู้เท่าทัน มายาคติที่แฝงอยู่ในระบบคิด เรื่องเพศของสังคม เช่น การรณรงค์ให้ผู้ชาย ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อไปใช้บริการทางเพศ ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นการจับคู่ถุงยางอนามัย เข้ากับการบริการทางเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้คือผู้ชายไม่ นิยมใช้ถุงยางอนามัยกับภรรยา หรือคู่รัก

ซึ่งส่งผลย้อนกลับให้เกิดการแพร่ระบาดของเอดส์ในหมู่ผู้หญิงนอกภาคบริการทางเพศและวัยรุ่นทั่วไปมากขึ้นอย่างน่าตกใจ หากมองว่าแคมฟรอกคือสื่อชนิดหนึ่ง ก็คงเป็นสื่อที่ไม่มีใครมาชี้ผิดชี้ถูกในเรื่องเพศ แต่เป็นสื่อที่เปิดให้ได้สัมผัส กับเรื่องเพศกันอย่างเต็มที่ สุดแล้วแต่ใครจะพกพาค่านิยมเรื่อง เพศแบบใดติดตัวมาด้วย เช่นนี้แล้วคงต้องตั้งคำถามว่า ใครคือเหยื่อของเทคโนโลยีสื่อสมัยใหม่กันแน่ ระหว่างสาวกแคมฟรอกกับระบบคิดเรื่องเพศของสังคมไทย หรือทั้งคู่? และคงถึงเวลาแล้ว ที่หน่วยเฝ้าระวังวัฒนธรรมจะกำหนดแผนแม่บทในการคุ้มครองวัยรุ่นอย่างแท้จริง

เป็นแผนแม่บทที่วางเป้าหมายไว้อย่างน้อยข้อหนึ่งคือ ต้องการให้วัยรุ่นเกิดค่านิยมใหม่ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา ไม่มีอะไรลึกลับให้ต้องค้นหา เพียงแต่ต้องรู้ว่าจะมีวิถีทางเพศที่ปลอดภัยได้อย่างไร แผนแม่บทที่ จะจัดทำขึ้นนี้ ต้องพัฒนาโดยวัยรุ่น และผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และมีผลงานวิจัยในเรื่องภาวะ และวิถีทางเพศของมนุษย์เข้ามาร่วมพัฒนาด้วย เพื่อให้มาตรการของ รัฐไม่กลายเป็นแผ่นเสียงตกร่อง และไปตอกย้ำระบบคิดเรื่องเพศแบบทุกวันนี้ ซึ่งนำคนไปสู่อันตรายจากการท้องไม่พร้อม การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ และการ ถูกกระทำทางเพศจากคู่ ที่สำคัญ แผนแม่บทนี้ต้องเริ่มจากการปรับ กระบวนทัศน์ของบุคลากรภาครัฐเสียใหม่ ให้เข้าใจมายาคติที่ซุกซ่อนอยู่ในระบบคิดเรื่องเพศ และต้องสามารถมองเห็นผลลัพธ์ ของมาตรการที่ใช้ได้ ซึ่งหากทำได้จริง ก็จะไม่ต้องตระหนกตกใจทุกครั้งเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น


บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv