28 มิถุนายน 2549

 

ICT เร่งสร้างภูมิคุ้มกันภัยร้ายบนเน็ต DSI ระบุปัญหาเริ่มขยายตัวพุ่งสูง


ICTเร่งสร้างภูมิคุ้มกันภัยร้ายบนเน็ต DSIระบุปัญหาเริ่มขยายตัวพุ่งสูง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 มิถุนายน 2549 09:25 น.


กระทรวงไอซีทีเร่งสานต่อป้องกันภัยร้ายบนโลกไซเบอร์ วอนสังคมช่วยสอดส่องมากกว่ารัฐทุ่มเทฝ่ายเดียว ดีเอสไอ ระบุไทยปัญหายังน้อยเมื่อเทียบต่างชาติ แต่อัตราเริ่มพุ่งสูงขึ้นชี้ผู้ปกครองเป็นจุดสำคัญการป้องกันปัญหาในกลุ่มเยาวชน

เมื่อวานนี้(27 มิถุนายน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) จัดสัมมนา “ภัยทางอินเทอร์เน็ตและการสื่อสาร : ภัยร้ายสายพันธุ์ใหม่ในสังคมไทย” ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการการอบรม/สัมมนาเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ ICT ครั้งที่ 4 โดยระดมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมบรรยายและอภิปรายสะท้อนสถานการณ์และสภาพความรุนแรงของปัญหา โดยมุ่งหวังให้ทุกส่วนในสังคมร่วมกันสอดส่องดูแล และหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาภายใต้ข้อเสนอแนะของผู้ดูแลและบังคับใช้กฎหมาย

นางมณีรัตน์ ผลิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า การจัดสัมนาขึ้นครั้งนี้ กระทรวงไอซีที ต้องการขยายมุมมองและสะท้อนปัญหาของการใช้งานไอซีที ในรูปแบบที่ผิดจากมุมมองผู้ที่เกี่ยวข้องไปยังกลุ่มผู้ปกครอง โดยต้องการมุ่งให้เยาวชนและประชาชนใช้งานอินเทอร์เนตอย่างเชิงสร้างสรรค์ และใช้พัฒนาทักษะในด้านความรู้ การสร้างประโยชน์ มากกว่าการใช้งานในทางที่ผิด อีกทั้งกระทรวงไอซีทีต้องการให้สังคมต้องร่วมกันสอดส่องดูแล และช่วยกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมดังกล่าวอย่างมีระบบ ทั้งในกลุ่มผู้ปกครอง เยาวชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้อเสนอแนะของผู้ดูแลและบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนผู้มีประสบการณ์ในการใช้และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบอาชญากรรมผ่านทางการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางคอมพิวเตอร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เช่น แชตรูม อีเมล์ เกมออนไลน์ และไอเอ็ม ภัยทางโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายรูปภาพหรือถ่ายวิดีโอที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือการให้บริการพูดคุยปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์ผ่านหมายเลข 1900 ตลอดจนภัยทางอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ โดยการส่งผ่านข้อมูลอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย

“อาชญากรที่มีความซับซ้อนกว่านั้นใช้ความชาญฉลาดของตนแทรกเข้าไปสู่ข้อมูลที่บันทึกหรือติดตั้งอยู่ของผู้อื่นเพื่อทำลาย หรือเอาไป หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นภัยอันร้ายแรงหากเป็นข้อมูลความลับทางด้านความมั่นคงของประเทศ หรือธุรกิจการค้าของเอกชน”

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนได้มีการใช้งานไอซีทีแบบผิดวัตถุประสงค์ มีการนำไปใช้งานมากกว่าด้านการศึกษา และเริ่มมีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานจากส่วนบุคคล ไปยังการเผยแพร่ รวมถึงการเข้าไปข้องเกี่ยวกับอบายมุข เว็บไซต์ลามกอนาจาร การโพสข้อความที่รุนแรงพาดพิงบุคคลที่สาม โดยที่ไม่ทราบถึงผลเสียหรือการละเมิดต่อกฎหมายจากสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป จากที่ติดตาม และจากข้อมูลในแหล่งอื่น ประเทศไทยมีเว็บไป๊ และบริการเกี่ยวกับเรื่องเซ็กถึงแสนเว็บ ส่วนทั่วโลกมีถึง4 ถึง5 ล้านเว็บไซต์ จากเว็บที่มีเนื้อหาที่ดีกว่า 8 พันล้านเว็บไซต์ ขณะเดียวกันเรื่องของการใช้งานอินเทอร์เนตยังมีปริมาณการใช้งาน คนไทยมีการใช้เพียง 4-5% เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น เกาหลี มีการใช้งานอินเทอร์เนต ถึง 60% ของสัดส่วนประชาการทั้งหมด จึงทำให้ปัญหาในเรื่องการใช้งานเมื่อเทียบแล้วยังดูน้อยมากแต่อัตราการเติบโตเริ่มพุ่งสูงขึ้น

สำหรับการแก้ไขปัญหาในแง่การใช้งานของเยาวชนและการป้องกันในไทย ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและเอาใจใส่บุตรหลานมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่มอบหมายให้หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา เป็นผู้ดูแลและให้ความรู้ เพราะผู้ปกครองสามารถที่จะพูดคุย ตรวจสอบและป้องกันปัญหาในการใช้งานอินเทอร์เน็ต มือถือ ได้มากกว่าผู้อื่น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ปกครองได้ขาดความเอาใจใส่ จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวเป็นที่ลุกลาม จนเด็กเยาวชน ไม่สามารถแยกแยะ หรือเข้าใจปัญหาได้ดี

“ผู้ปกครองเป็นคนสำคัญที่สุดในการป้องกันปัญหา หากละเลยแล้วก็ไม่มีใครที่ช่วยได้ เพราะผู้ปกครองนั้นใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด สามารถที่จะพูดคุย สอบถามได้ ไม่ใช่โยนให้หน่วยงานรัฐ ครูอาจารย์ มาเป็นผู้ดูแลตรวจสอบ แต่ถึงอย่างไรทุกฝ่ายก็จะต้องร่วมแรงร่วมใจ ในการให้ความรู้ ข้อแนะนำ ปัญหาก็จะลดลงนำไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น”

นายศรีศักดิ์ จามรมาน นายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมอินเทอร์เน็ตนานาชาติ สาขาประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มของภัยอินเทอร์เน็ตในปี 2549 โดยอ้างถึงรายงานสรุปของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส “เทรนด์ไมโคร” (Trend Micro Inc.) ที่ได้ทำการสำรวจภาวะภัยร้ายคุกคามบนอินเทอร์เน็ตในปี 2548 รวมถึงภัยในอนาคตอีกมากมาย พบว่าในปีที่ผ่านมาถือเป็น “ปีแห่งเกรย์แวร์” เนื่องจากครองสัดส่วนของของภัยคุกคาม 15 อันดับแรกสูงสุดถึง 65% ที่มีรายงานแจ้งความเสียหายทางอีเมล์มากถึง 11 ล้านฉบับ โดยภัยการโจรกรรมข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมีมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 81% ขณะที่การลวงด้วยที่อยู่ทางอินเทอร์เน็ตลดลงเหลือ 13% ในช่วงปลายปี 2548 เมื่อเทียบกับต้นปี 2549 ที่มีจำนวนมากถึง 76%

ส่วนแนวโน้มภัยคุกคามปี 2549 เทรนด์ไมโครคาดว่า “สปาย-ฟิชชิ่ง” (Spy-phishing) จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “สเปียร์-ฟิชชิ่ง (Spear-phishing) จะก่อผลกระทบกับองค์กรธุรกิจต่างๆ สแปมจะมาในรูปภาษาท้องถิ่นมากขึ้น มัลแวร์จะมาในรูปของการเข้ารหัสและแบ่งย่อยตัวเองมากขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับโปรแกรมสนทนาออนไลน์จะยังคงเป็นช่องทางแพร่ไวรัสอยู่ รวมถึงระบบปฏิบัติการวินโดว์สยังพบข้อด้อยที่ไวรัสคอมพิวเตอร์ยังสามารถเข้าทำลายระบบได้

สำหรับภัยทางอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเยาวชน สตรี และประชาชนในประเทศส่วนมากได้แก่ การพนันบนอินเทอร์เน็ต เว็บลามก การล่อลวงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะที่เป็นหญิงสาวผ่านการใช้แชตรูม อีเมล์ เกมออนไลน์ ไอเอ็ม หรือแม้แต่การให้บริการข้อมูลด้วยเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือ (Audiotex) หรือ หมายเลข 1900 ที่มีทั้งสายคลายเหงา คุยเสียว และหลากหลายข้อความที่ส่อไปทางยั่วยุกามารมณ์ เหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางให้เกิดอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

“การรู้ให้เท่าทันอันตรายจากภัยอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารจึงเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเป็นปัญหาทางสังคมที่ลุกลามและรุนแรงต่อไปในอนาคต” นายศรีศักดิ์กล่าว

Company Related Link:
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)

www.saijai.net โทร.0-2886-9991
ที่มาข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์ 28 มิถุนายน 2549 09:25 น
รูปประกอบจาก http://www.dsi.go.th/dsi/index.jsp

บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv