19 กรกฎาคม 2549

 

แชตไลน์ อาชญากรไซเบอร์


16 กรกฎาคม 2549 กองบรรณาธิการ

ปี 2546-2549 มีคนหายทั้งหมด 624 คน เป็นชาย 241 คน หญิง 383 คน เฉพาะเดือนกรกฎาคมมีทั้งหมด 16 คน ชาย 2 คน และหญิง 14 คน


โดยมีเด็กหญิงชายและวัยรุ่นสามารถกลับบ้านสู่อ้อมอกพ่อแม่ได้เพียง 300 กว่าคนเท่านั้น

แม้สาเหตุของการถูกลักพาตัวอาจมาจากหลายสาเหตุ เด็กเล็กๆ อาจถูกจับไปขายต่อให้ครอบครัวที่อยากมีลูก แต่ทำไม่เป็นก็ต้องอาศัยเงินซื้อเอา เด็กบางคนถูกจับเข้าแก๊งขอทาน แต่ปรากฏการณ์ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น ก็คือการโดนล่อลวงด้วยอาวุธทันสมัยในโลกยุคใหม่ ซึ่งศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า ที่ผ่านมามีการแจ้งกรณีเด็กหาย เพราะถูกล่อลวงจากแชตไลน์ในระบบออดิโอเท็กซ์เข้ามาที่ศูนย์ข้อมูลคนหายฯ ถึง 12 ราย ทุกรายล้วนเป็นเด็กผู้หญิงอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 15 ปีและนับวันมีมากขึ้น

หลายคนเสพติดการแชตผ่านเน็ต คุยกันทุกวัน หลายคนมีความหวังจะเจอรักแท้เหมือนใครบางคน แต่ไม่ได้โชคดีเหมือนกัน ไม่ถูกข่มขืนก็ถูกฆ่า

นั่นอาจเป็นผลพวงสำคัญของการก้าวสู่ยุคอินเทอร์เน็ตของไทยอย่างไร้ภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่มองคู่สนทนาอย่างใสซื่ออย่างไม่คาดคิดว่า อันตรายกำลังจะเกิดขึ้นกับตัวเอง และสุดท้ายต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรูปแบบใหม่ที่อาศัยความเหงา ความตื่นเต้น จับจุดอารมณ์ความอยากรู้อยากเห็นเป็นตัวกระตุ้น

เริ่มจากโฆษณาบริการแชตไลน์ ภาพสาวสวยหนุ่มหล่อล่อใจที่พร้อมเปิดอกพูดคุยทุกเรื่อง เพียงน้องๆ โทรเข้ามา

เริ่มจากความเหงาและต้องการใครสักคนในช่วงสุญญากาศด้านอารมณ์ เด็กสาวโทรเข้ามาพูดคุยหรืออาจแชตผ่านเน็ต อาศัยลีลาการพูดเอาใจ เข้าใจเธอทุกเรื่อง ใช้วันเวลาอีกนิดแล้วนัดเจอกัน เหตุการณ์ต่อไปเป็นอย่างไร มีกี่คนที่โชคดีได้กลับมาอย่างปลอดภัย

คำตอบ คือ แทบไม่มีเลย

ความร้ายกาจของแชตไลน์และเอ็มเอสเอ็น ทำให้ศูนย์ข้อมูลคนหายฯ ต้องเปิดเว็บไซต์ www.backtohome.org เมื่อกลางปี 2546 เพื่อเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการติดตามคนหายแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย เพราะหวังพึ่งพิงหน่วยงานรัฐอย่างคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก็ยังก้าวไม่เท่าทันโลกที่ไปไกลมากแล้ว ขณะที่บริษัทผู้ให้บริการก็เห็นเพียงแค่ผลประโยชน์เชิงธุรกิจเท่านั้น

นายวรเชษฐ์ เขียวจันทร์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลคนหายฯ ได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อยื่นคำร้อง 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการตรวจสอบและติดตามว่า สัญญาต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติไปแล้วนั้นมีการปฏิบัติตามสัญญาจริงหรือไม่ เพื่อมิให้มีการฝ่าฝืน

2.ควรมีวิธีการลงทะเบียนก่อนเข้าใช้บริการแชตไลน์ในระบบออดิโอเท็กซ์ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าใช้บริการให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญา เช่น การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกระดานสนทนาในเว็บไซต์บางแห่ง ต้องมีการตรวจสอบเลขที่บัตรประชาชนก่อน เพื่อลงทะเบียนก่อนแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ถ้าสมาชิกท่านใดใช้ข้อความไม่สุภาพ จะโดนตัดออกจากการเป็นสมาชิก หมดสิทธิ์แสดงความคิดเห็น

3.ควรมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสุ่มฟังการสนทนาของผู้เข้าใช้บริการแชตไลน์ในระบบออดิโอเท็กซ์ เพื่อมิให้ใช้ถ้อยคำที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร ถ้าตรวจพบผู้เข้าใช้บริการก็ควรตัดสิทธิ์ห้ามเข้าใช้บริการแชตไลน์อีกต่อไป 4.ต้องระงับข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมในการโฆษณาเชิญชวน เข้าใช้บริการแชตไลน์ตามเว็บไซต์และสื่อโฆษณาต่างๆ 5.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการลงโทษผู้ประกอบการตามกฎหมาย ถ้าตรวจพบผู้ประกอบการไม่ทำตามสัญญา

แต่ข้อร้องเรียนยังไม่เห็นผล เพราะฝ่าย กทช.ยังต้องพิจารณากฎระเบียบอำนาจ ทั้งที่ กทช.เองก็ยอมรับ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเปิดให้บริการแชตไลน์ทางโทรศัพท์มาบ้างแล้ว แต่ต้องตรวจสอบดูก่อนว่า มีกฎระเบียบข้อใดของสำนักงาน กทช.ที่สามารถนำมาใช้ควบคุม และตรวจสอบการเปิดให้บริการแชตไลน์ในระบบออดิโอเท็กซ์บ้าง

หากไม่มีคงต้องดูกันอีกทีว่า กทช.สามารถออกกฎระเบียบหรือมาตรการใดบ้าง ที่สามารถนำมาใช้ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และหาก กทช.ไม่สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้ คงต้องดูกันต่อไปว่าเรื่องการออกกฎระเบียบหรือมาตรการควบคุมการให้บริการแชตไลน์ในระบบออดิโอเท็กซ์ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือกระทรวงวัฒนธรรม

รัฐกำลังรอตรวจสอบ ขณะที่บริษัทผู้ให้บริการอย่างทีโอทีทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ สังคมยังขาดภูมิคุ้มกัน

แล้วอย่างนี้ เมื่อไหร่หนูจะหนีพ้นอันตรายเสียที

โถ..ประเทศไทย.

บทความที่น่าใส่ใจ : แสดงความคิดเห็น

<< vvv