30 สิงหาคม 2550

 

ลูกติดเกม : ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่ !!


ผู้จัดการออนไลน์
โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
29 สิงหาคม 2550 10:14 น.
คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน


ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีเพื่อนคุณแม่โทรศัพท์มาคุยเรื่องลูกหลายคนทีเดียว ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าหัวอกคนเป็นแม่ก็อย่างนี้แหละ กังวลนั่นโน่นนี่เกี่ยวกับลูกไปซะทุกเรื่อง

ช่วงลูกเล็กก็กังวลเรื่องกินนอน โรคภัยไข้เจ็บ พัฒนาการต่างๆ ที่วิตกกังวลสารพัด กลัวลูกจะผิดปกติ พอลูกเริ่มโตเข้าโรงเรียนก็จะมีเรื่องเพื่อน ครู และปัญหาเรื่องการเรียน พอลูกเข้าสู่วัยรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรี่องพฤติกรรม เรื่องเพื่อน หรือเพศตรงข้าม


ก็สุดแท้แต่ครอบครัวไหนจะประสบพบเจอ และมีวิธีการในการปรับแก้พฤติกรรมกันไป


ทำไงได้ ก็คนเป็นแม่ ไม่ให้สุขหรือทุกข์เรื่องลูก แล้วจะเรียกว่าเป็นพ่อแม่ได้อย่างไร…


แต่ปัญหาหนึ่งที่ดิฉันตั้งเป็นข้อสังเกตให้ระยะหลังที่มาแรงแซงโค้งมากๆ ก็คือ ปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกที่สร้างความหนักอกหนักใจ และคนเป็นพ่อแม่ก็มักจะฟูมฟาย เพราะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง นั่นก็คือ ปัญหาลูกติดเกม


เดี๋ยวนี้แทบทุกบ้านมีเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์กันถ้วนทั่ว บางบ้านก็มีหลายเครื่องอีกต่างหาก และนี่แหละจึงกลายเป็นที่มาของสภาพปัญหาของพ่อแม่ ที่ในครั้งแรกซื้อเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ลูกด้วยเพราะลูกต้องใช้เป็นเครื่องมือในการทำรายงาน หรือกราฟฟิก ในการทำสารพัดที่เจ้าคอมพิวเตอร์สามารถตอบสนองความต้องการให้กับผู้ใช้ได้


ถ้าเป็นลูกวัยโตที่มีความจำเป็นก็เข้าใจได้ แต่ในปัจจุบันเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ว่านี่แหละที่เข้าไปทะลุทะลวงในบ้านที่มีลูกอยู่ในวัยเด็กเล็ก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะลูกขอร้อง หรือด้วยเหตุผลเพราะดูทันสมัย ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณพ่อคุณแม่จัดซื้อหาให้ เพราะด้วยความเข้าใจว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กในยุคปัจจุบัน


พ่อแม่บางคนไม่สามารถใช้หรือไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทำอะไรได้บ้าง พอเห็นลูกอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เข้าใจว่าลูกขยันจังเลย โดยหารู้ไม่ว่า ลูกกำลังทำอะไรอยู่


เพื่อนคุณแม่คนแรกที่โทรศัพท์มาคุยบอกว่าตอนนี้ลูกวัย 11 ขวบค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจาเหมือนเมื่อก่อน ชอบอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ยิ่งตอนนี้ติดเกมด้วย ยิ่งแกะไม่ออกเลย ดิฉันเลยถามว่า แล้วใครเป็นซื้อเจ้าคอมพิวเตอร์หรือเกมให้ลูกล่ะ....คำตอบจะใครล่ะ ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ ?


ในขณะที่เพื่อนคุณแม่อีกคนหนึ่งถามตรงประเด็นเลยว่า ตอนนี้ลูกติดเกมจะแก้ปัญหาอย่างไงดี


โห...เจอคำถามแบบนี้ ออกจะเซ็งด้วยซ้ำ เพราะนั่นเท่ากับว่า ปล่อยให้ลูกเล่นเกมจนติด และกลายเป็นปัญหาพฤติกรรม แล้วจะมาหาทางแก้ไขทีหลัง เหนื่อยครับท่าน...ดิฉันก็ตอบไปอย่างนี้ เพราะการที่ปล่อยให้ลูกติดแล้วมาแก้ไขทีหลังนั้นยากกว่าป้องกันตั้งแต่แรก


แต่ทำไงได้ ก็ติดไปแล้วนี่หน่า มีตัวเลขของบริษัททำวิจัยรายใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาชื่อว่า The NPD Group รายงานผลสำรวจเกี่ยวกับแนวโน้มของเด็กกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ว่าอายุโดยเฉลี่ยของเด็กที่เริ่มใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ลดต่ำลงจากวัย 8.1 ปี ในปี 2548 มาอยู่ที่วัย 6.7 ปี ในปี 2550


อุปกรณ์ที่เด็กวัย 6 ขวบเศษ โปรดปรานมากที่สุดคือ เครื่องเล่นวิดีโอเกมแบบพกพา (portable video games) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่เด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบการเล่นวิดีโอเกมในปัจจุบัน ตามติดด้วยกล้องถ่ายรูปดิจิตอลที่เด็กๆ เริ่มมีโอกาสเป็นเจ้าของ และเด็กได้สัมผัสตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน ด้วยวัยเพียง 4-5 ปี


นับตั้งแต่ปี 2548 ที่ NPD เริ่มทำการสำรวจการใช้อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ของชาวอเมริกันในช่วงวัยต่างๆ ข้อน่าสังเกตคือ อายุเฉลี่ยของเด็กที่เริ่มใช้อุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มล่าสุดก็คือ การใช้โทรศัพท์มือถือ และเครื่องเล่นดีวีดี


“ผู้ที่เปิดประตูสู่โลกของการใช้ข้าวของไฮเทคเหล่านี้ก็คือผู้ใหญ่ หรือบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองนั่นเอง ที่มองว่ามันเป็นสิ่งที่ทันสมัยและไม่มีพิษมีภัยอะไร ทั้งยังคิดว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจำเป็น และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว” นักวิเคราะห์อุตสาหกรรม แห่ง NPD กล่าว


ตัวเลขจากการสำรวจที่น่าสนใจมีดังนี้ เด็ก 39% เป็นเจ้าของเครื่องเล่นวิดีโอเกมแบบพกพา และ 29% เป็นเจ้าของเครื่องเล่นฯ แบบชุดควบคุมที่ต้องต่อเข้ากับจอทีวี โดยเกมบอยและเพลย์สเตชั่นทูได้รับความนิยมสูงสุด


เป็นไงคะ..ตัวเลขเด็กติดเกมกับวัยของเด็กที่ลดลงของชาวอเมริกัน ซึ่งนักวิชาการในบ้านเราก็ออกมายอมรับว่าเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเด็กในบ้านเรา ที่มีแนวโน้มเฉกเช่นเดียวกัน


แล้วจะสังเกตลักษณะของเด็กที่ติดเกมได้อย่างไร


หนึ่ง – เล่นเกมนานติดต่อกันหลายชั่วโมง และไม่สามารถควบคุมเวลาในการเล่นได้ บางคนเล่นข้ามวันข้ามคืน เวลาถูกบังคับให้เลิกเล่นก็จะต่อต้าน หรือมีปฏิกิริยาหงุดหงิดไม่พอใจ บางคนถึงขั้นก้าวร้าว อาละวาด


สอง - ไม่สนใจการเรียน ไม่ทำการบ้าน หนีเรียนหรือแอบหนีออกจากบ้านเพื่อไปเล่นเกม การเรียนตกลงอย่างมาก ละเลยการเข้าสังคม หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว


สาม - มีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โกหก ลักขโมย เพื่อนำเงินไปเล่นเกม ดื้อ ต่อต้าน แยกตัว เก็บตัว ซึมเศร้า ฯลฯ


ถ้าลูกเข้าข่ายลักษณะเช่นนี้ต้องรีบแก้ไขในบัดดล


วิธีแก้ไขในเบื้องต้น ต้องไม่ใช้วิธี “ห้าม” เพราะจะยิ่งไปกันใหญ่ ลองดูวิธีเหล่านี้นะคะ


หนึ่ง – คุยกับเด็กตรงๆ ว่าพ่อแม่ไม่ห้าม แต่ตอนนี้มันเป็นปัญหาสำหรับลูก ซึ่งก็เป็นปัญหาสำหรับพ่อแม่ด้วย ฉะนั้น ต้องพูดแบบเปิดใจกับลูกด้วยท่าทีที่เต็มไปด้วยความรักและความห่วงใย และบอกเขาว่า “เพราะเจ้าเกมนี่แหละที่ทำให้ลูกรักของแม่เปลี่ยนไป แม่อยากได้ลูกรักของแม่คืนมา” จากนั้นก็กำหนดกติกาในการเล่นเกมร่วมกันใหม่ โดยให้เขาได้มีส่วนร่วมในการตั้งกติกาด้วย เช่น ทำการบ้านเสร็จก่อน หรือเล่นเฉพาะวันหยุด หรือ...ฯลฯ ก็สุดแท้แต่กติกาที่เหมาะกับบ้านของคุณ


สอง – เมื่อลูกรักษากติกาก็ควรได้รับคำชมจากพ่อแม่ หรือถ้าจะให้ดีเล่นกับลูกด้วยเลย เพื่อจูงให้ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และเรายังสามารถควบคุมเกมที่จะเล่นหรือเวลาได้อย่างเนียนๆ อีกด้วย


สาม - จัดวางตำแหน่งเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในสถานที่พื้นที่ส่วนกลาง คนในบ้านเดินผ่านไปมาสามารถรับรู้ได้ว่าเขากับกำลังเล่นเกมอะไรอยู่ แล้วเป็นเกมที่เหมาะสมหรือไม่ ไม่ควรตั้งไว้ในห้องนอน หรือสถานที่ส่วนตัว เพราะจะทำให้พ่อแม่ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าลูกเล่นเกมอะไร และเหมาะสมหรือไม่


สี่ – ชวนลูกทำกิจกรรมอื่นๆ อาจดึงกีฬาสำหรับครอบครัวเข้ามาเป็นทางเลือก เพื่อจูงให้ลูกไปสนใจกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำร่วมกับครอบครัว และไม่หมกมุ่นกับเกมจนเกินไป


กรณีในรายที่ติดเกมจริงๆ และเด็กต่อต้านรุนแรงที่จะเลิก ในระยะแรกพ่อแม่ควรร่วมเล่นเกมกับเด็ก ต้องใช้ความอดทน ด้วยท่าทีที่นุ่มนวล อย่าดุด่าว่ากล่าว เพราะจะทำให้เด็กเตลิด จากนั้นก็ค่อยๆ พาลูกไปปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยก็ได้


ปัญหาเรื่องเด็กติดเกม อย่าโทษว่าเป็นเพราะตัวเด็กอย่างเดียว แต่ลองเหลียวดูแล้วจะพบว่าคนเป็นพ่อแม่ล้วนแล้วเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแทบทั้งสิ้น


ฉะนั้น เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องเยียวยาด้วยความรักของพ่อแม่ค่ะ



23 สิงหาคม 2550

 

ศดส.รวบโจ๋แสบ!! ล่อลวงสาว 16 ผ่านแชตไลน์



โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์
23 สิงหาคม 2550 02:13 น.



ตำรวจ ศดส.บุกรวบโจ๋เมืองนนท์ ล่อลวงสาววัย 16 ปี ผ่านทางเบอร์โทรศัพท์แชตไลน์ ก่อนพาไปข่มขืนที่บ้านพัก เผยมีสาววัยรุ่นตกเป็นเหยื่อมาแล้วหลายรายแต่กลัวอับอายไม่กล้าแจ้งความ


วันนี้ (22 ส.ค.) เมื่อเวลา 22.00 น. พ.ต.อ.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ ผู้กำกับการศูนย์สวัสดิภาพเด็กเยาวชนและสตรี (ผกก.ศดส.) พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มงานสืบสวน ศดส. ร่วมกันแถลงผลการจับกุม นายเอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี ผู้ต้องหาคดี พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปี ไปจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร


โดยการจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศดส.รับแจ้งจากมารดาของ น.ส.บี (นามสมมติ) อายุ 16 ปี ผู้เสียหาย ว่าบุตรสาวได้หายออกจากบ้านไปตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะถูกล่อลวงหรือลักพาตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงออกสืบสวนหาข่าวจนกระทั่งทราบว่า นายเอเป็นผู้ล่อลวง น.ส.บี ไปอยู่ที่บ้านพักภายในซอยวัดส้มเกลี้ยง ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี จึงเข้าทำการจับกุมนายเอส่งพนักงานสอบสวน สภ.อ.บางใหญ่ ดำเนินคดี และนำตัว น.ส.บี ส่งคืนมารดา


จากการสอบสวนทราบว่า ผู้ต้องหารายนี้ยังมีพฤติการณ์ล่อลวงหญิงสาววัยรุ่นเพื่อกระทำการข่มขืน และกระทำอนาจารมาแล้วหลายครั้ง โดยใช้วิธีติดต่อหาเหยื่อทางโทรศัพท์แชตไลน์ เบอร์ 0-2900-9006 ซึ่งเสียค่าบริการเพียง 3 นาที ต่อ 1 บาท เมื่อโทรศัพท์เข้าไปแล้วจะเลือกหาเหยื่อซึ่งเป็นหญิงสาววัยรุ่นที่ชอบพูดคุยในแชตไลน์ ก่อนจะขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อเหยื่อแล้วล่อลวงไปทำการข่มขืน หรือมีเพศสัมพันธ์กัน โดยหญิงสาวหลายรายที่เคยถูกล่อลวงไม่กล้าแจ้งความเนื่องจากเกรงกลัว และอับอาย นอกจากนี้ผู้ต้องหายังมีหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหาพรากผู้เยาว์ฯ และข่มขืนกระทำชำเราอีกด้วย


พ.ต.อ.วรวัฒน์ กล่าวว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจสอบไปยังหมายเลขโทรศัพท์แชทไลน์ดังกล่าวปรากฏว่าได้หยุดให้บริการไปแล้ว อย่างไรก็ดียังพบว่ามีการเปิดให้บริการในลักษณะเดียวกันอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่องทางให้คนร้ายในการล่อลวงเหยื่อได้ ดังนั้น ต่อไปคงต้องมีการตรวจสอบความเหมาะสมในการให้บริการลักษณะนี้ให้มากขึ้น


“ในปัจจุบันสถิติคดีหญิงสาวถูกล่อลวงผ่านทางแชตไลน์ และอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงอยากฝากเตือนให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมของบุตรหลานโดยเฉพาะเด็กสาวที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นเพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อภัยสังคม” ผกก.ศดส. กล่าว



22 สิงหาคม 2550

 

จับจิ้งจอกสังคม! แชตลวง นศ.สาวเข้าม่านรูด-ขืนใจ-ลักทรัพย์


โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์
21 สิงหาคม 2550 14:52 น.



ตำรวจตามจับกุมหนุ่มวัย 35 ปี แชตลวงเหยื่อสาว โดยอ้างว่าเป็นนักแข่งรถของฮอนด้า จนเหยื่อตายใจหลงออกไปพบ แล้วพาเข้าโรงแรมข่มขืนกระทำชำเรา พร้อมลักทรัพย์ผู้เสียหายไปหลายราย ตำรวจออกหมายจับล่าหลายโรงพัก สุดท้ายจนมุม ร้องไห้ฟูมฟายโทรศัพท์ให้แม่มาช่วย

วันนี้ (21 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่บก.น.2 พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผบก.น.2 พ.ต.อ.เจริญ ศรีศศลักษณ์ รอง ผบก.น.2 พ.ต.ต.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย สว.สส.สน.บางซื่อ พร้อมฝ่ายสืบสวน แถลงการจับกุม นายภีรพงษ์ หรือหนุ่ม ฝนธัญญะ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77/2 หมู่ 2 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี พร้อมของกลาง บัตรประจำตัวประจำตำแหน่งรอง ผจก.ฝ่ายตรวจศูนย์ และบัตรประจำตัวนักแข่งของบริษัท เอพี ฮอนด้า ออโต้ เจแปน จำกัด ซึ่งเป็นบัตรปลอม และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง

พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาได้หลอกลวง น.ส.นกเอี้ยง (นามสมมติ) อายุ 21 ปี นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะแห่งหนึ่งไปข่มขืนและลักทรัพย์ ภายในห้องพักโรงแรมมิโด้ ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. โดยผู้เสียหายให้การไว้ว่าได้ติดต่อกับผู้ต้องหาทางอินเทอร์เน็ต ผ่านโปรแกรมเอ็มเอสเอ็น ซึ่งผู้ต้องหาแอบอ้างว่าเป็นนักแข่งรถในเครือเอพีฮอนด้า จนหลงเชื่อและคุยกันอย่างสนิทสนม จนกระทั่งผู้ต้องหาได้นัดเจอกันข้างนอกแล้วหลอกพาเข้าโรงแรม จากนั้นได้ลักทรัพย์เป็นสร้อยข้อมือทองคำหนัก 50 สตางค์ 1 เส้น สร้อยคอทองคำหนัก 50 สตางค์ อีก 1 เส้น โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ซึ่งต่อมาผู้เสียเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ และพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาลอาญา ออกหมายจับเลขที่ 2562/2550 ลงวันที่ 20 ส.ค. ก่อนจะติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาได้เมื่อเวลา 15.00 น.วานนี้ (20 ส.ค.) ที่บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี สาขาสะพานควาย ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. จึงควบคุมตัวมาสอบปากคำ

พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า จากการสอบปากคำผู้ต้องหารับสารภาพว่าได้กระทำการในลักษณะดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง โดยใช้โปรแกรมเอ็มเอสเอ็น ชื่ออีเมล love you-love me_u@hotmail.com เข้าไปคุยกับผู้เสียหายทางอินเทอร์เน็ต เมื่อคุยกันจนถูกคอจึงได้หลอกลวงเหยื่อว่าตนเองเป็นนักแข่งรถ จากนั้นจะนัดให้เหยื่อออกมาพบ และนั่งแท็กซี่พาเข้าโรงแรมลงมือข่มขืน พร้อมกับลักทรัพย์ผู้เสียหายไปขาย โดยทองจะไปขายตามร้านทองทั่วไป ส่วนโทรศัพท์จะไปขายให้พ่อค้าย่านริมคลองหลอด โดยกระทำการในลักษณะดังกล่าวมาประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้มีอาชีพขับรถพ่วง แต่รายได้ไม่ดีพอจึงออกมาทำมิจฉาชีพดังกล่าวด้วยการว่าจ้างให้ร้านทำบัตรย่านถนนข้าวสารปลอมบัตรประจำตัวนักแข่งรถทั้ง 2 ใบ ในราคาใบละ 500 บาท ส่วนร้านอินเทอร์เน็ตจะไปใช้บริการที่ร้านย่านลาดพร้าว และย่านรามคำแหง ซึ่งเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง

ผบก.น.2 กล่าวต่อว่า จากการสอบสวนขยายผลทราบว่า นายภีรพงษ์ เดิมคือ นายธนภัทร ธีระสาสน์ ที่ได้ก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวมาหลายครั้ง เนื่องจากมีผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ และศาลได้ออกหมายจับไว้แล้วในหลายท้องที่ อาทิ ที่ สน.วังทองหลาง สน.ทุ่งมหาเมฆ สน.พหลโยธิน สน.ทองหล่อ สน.พญาไท สน.โคกคราม สน.ดอนเมือง สน.ปทุมวัน และสภ.ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ซึ่งขณะนี้ได้มีผู้เสียหายติดต่อมาดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีก 3 ราย

เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อหาข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาตน โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงนั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และลักทรัพย์ผู้อื่น ก่อนจะควบคุมตัวไว้ดำเนินคดีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแถลงข่าวเสร็จ นายภีรพงษ์ผู้ต้องหาได้ขอยืมโทรศัพท์จากตำรวจสายสืบเพื่อโทร.หาแม่ จากนั้นร่ำไห้ฟูมฟายบอกกับผู้เป็นแม่ที่ปลายสายว่า “แม่ครับ หนุ่มโดนตำรวจจับ เขาเอาหนุ่มมาแถลงข่าว แม่ช่วยเอาเสื้อผ้าและยาไปให้ที่ สน.บางซื่อ ด้วย”

15 สิงหาคม 2550

 

ร้านเกมเปิดรับ‘เลี้ยงเด็ก’

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550


โพสต์ทูเดย์ — พ่อแม่แห่ส่งลูกให้ ร้านเกมเหลี่ยมจัดรับเลี้ยงบุตรหลาน เลียนแบบเนิร์สเซอรี ระบาดหนักจนต้องจับเด็กล่ามโซ่


นายพรสิทธิ ทรวงสุรัตนกุล ผอ.สโมสรนักอ่านและอาสาสมัครพัฒนาสังคม กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่สำรวจใน กทม.พบร้านเกมใช้กลยุทธ์เรียกลูกค้า ด้วยการคิดราคาค่าเล่นแบบเหมาจ่ายบวกกับค่าที่พัก ค่าอาหารในราคาพิเศษ พ่อแม่บางคนเห็นร้านเกมเป็นสถานที่เลี้ยงลูกวันเสาร์-อาทิตย์ นำลูกไปฝากเจ้าของร้านเกม โดยเหมาจ่ายเป็นรายชั่วโมง ตั้งแต่ชั่วโมงละ 15-20 บาท


รวมทั้งให้ค่าอาหารอีก 50 บาท ให้ทางร้านหาอาหารให้ลูกกินด้วย เช่น 5 ชั่วโมง 100 บาท บวกกับค่าอาหาร 30 บาท พ่อแม่บางรายเห็นว่าเป็นราคาถูกกว่าจ้างพี่เลี้ยงดูแลด้วยซ้ำ


นอกจากนี้ พบพ่อแม่บางคนแก้ปัญหาลูกติดเกมโดยการล่ามโซ่ลูกไว้กับบ้าน
“บางคนแจ้งความจับลูกข้อหาขโมยเงิน บางคนดุด่าลูกจนลูกหนีออกจากบ้านไปอยู่ร้านเกม ลูกใครหายตามได้ที่ร้านเกม เงินหายตามเจอได้ที่ ร้านเกม นำไปสู่การหนีโรงเรียนและ ลักขโมยเงินพ่อแม่ คาดว่าเด็กในชุมชน กทม. 100 คน ติดเกมถึง 20%” นายพรสิทธิ กล่าว


นายธนพล โลห์สุวรรณ หัวหน้าสำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการกรุงเทพ 6 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า สำนักงานดูแล 7 เขต คือ จตุจักร ห้วยขวาง บางเขน ดอนเมือง สายไหม หลักสี่ และลาดพร้าว พบปัญหาเด็กติดเกมกำลังระบาดหนัก


นายธนพล กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ปกครองมีฐานะยากจน ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน จึงปล่อยให้ไปเล่นเกม ส่งผลให้เกิดนิสัยชอบความรุนแรง ก้าวร้าว ก่ออาชญากรรม พ่อแม่บางคนไม่รู้ว่าลูกติดเกมเกือบ 80% ตามลูกไม่ทัน ไม่ว่าเรื่องเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และเกมออนไลน์


ด้านนายนพรัตน์ สอนประสม กรรมการชุมชนสุเหร่าแดง เขตคันนายาว กล่าวว่า ปัญหาเด็กติดเกมระบาดหนักในชุมชนประมาณ 20% รองจาก ปัญหายาเสพติดที่มีถึง 80% ส่งผลให้เด็กบางคนมีผลการเรียนตกต่ำ บางคนกลายเป็นขโมย อยากให้รัฐแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง


ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวมาจากที่ประชุมจากการประชุมโครงการแก้ไขและป้องกันปัญหาเด็กติดเกมคอมพิวเตอร์ใน กทม.


ด้านนพ.วัลลภ ไทยเหนือ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งให้กรม สนับสนุนบริการสุขภาพส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบมาตรฐานสถานประกอบการสปา หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ ตักเตือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต หากพบขายบริการทางเพศแอบแฝงจะให้ตำรวจดำเนินการทางกฎหมาย


07 สิงหาคม 2550

 

หมอเปิดรายงาน(ลับ)“เด็กติดเกม”


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 สิงหาคม 2550 10:06 น.
“เด็กติดเกม” ดูจะเป็นปัญหาของหลายครอบครัว โดยเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ที่เวลาดูจะเป็นของหายากขึ้นทุกที โอกาสที่พ่อแม่ลูกจะใช้เวลาร่วมกันก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่จำใจต้องปล่อยให้ลูกใช้เวลาอยู่กับเทคโนโลยีและความไฮเทค จำพวกเกมและคอมพิวเตอร์ เพราะด้วยคิด ว่าอย่างน้อยจะเล่น ก็ขอให้เล่นอยู่ที่บ้านหรืออยู่ในละแวกแถวบ้าน ใกล้สายตาที่พ่อแม่พอจะมองเห็น โดยหารู้ไม่ว่า การสื่อสารระหว่างกันในครอบครัวที่น้อยลงประกอบกับการทิ้งลูกไว้กับเกมที่ไม่ได้รับการกรองจากพ่อแม่ และความไม่เข้าใจกันที่พอกพูนขึ้นทีละน้อยนั้น เป็นบ่อเกิดของปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับสภาวะอารมณ์ของเด็ก

ดังเช่นกรณีตัวอย่างจากสถาบันธัญญรักษ์รายนี้


นพ.อังกูร ภัทรากร นพ.อาทิตย์ กอธรรมรังสี และ พญ.สิริญชา ปติปัญญากุล ได้นำกรณีตัวอย่าง Game Addiction หรือภาวะติดเกมซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริงกับวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลศิริราช มารักษาต่อที่สถาบันฯ


“เป็นกรณีที่เกิดจากเด็กอายุ 17 คนหนึ่ง ที่สภาพครอบครัวค่อนข้างมีปัญหา พ่อเป็นคนดุ เข้มงวด และค่อนข้างเผด็จการ ส่วนแม่ก็มีปัญหาจากความเข้มงวดและดุของพ่อ คือแม่มีอาการซึมเศร้า ทุกอย่างในบ้านจะขึ้นอยู่กับพ่อ แม่ก็เลยมาแสดงออกโดยการตามใจลูก ส่วนเด็กที่มีปัญหาเป็นลูกชายคนกลางของครอบครัว” นพ.อังกูรเกริ่นถึงสภาพของครอบครัวของคนไข้รายนี้ ก่อนที่นพ.อาทิตย์ผู้เป็นเจ้าของไข้จะให้ข้อมูลต่อไป


“คนไข้เป็นลูกคนกลาง มีพี่ชายหนึ่งคน และน้องสาวหนึ่งคน สภาพครอบครัวพ่อแม่มีปัญหา บางครั้งที่พ่อแม่ทะเลาะกันพ่อก็ลงไม้ลงมือกับแม่ คนไข้จะเป็นลูกที่เข้าไปช่วยแม่ เข้าไปห้าม และมักจะโดนลูกหลง ในขณะที่พี่น้องคนอื่นมักจะเฉยๆ และไม่เข้าไปยุ่ง ส่วนคุณแม่ เมื่อถูกคุณพ่อกดดันแล้วไม่มีทางออก ก็ทำอะไรไม่ได้ต้องไประบายออกด้วยการตามใจลูก”


พญ.สิริญชา ซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของไข้ร่วมกับหมออาทิตย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวของคนไข้ต่อไปอีกว่า ตั้งแต่เด็กๆ มา คนไข้จึงรู้สึกต่อต้านพ่อ และหันมาพึ่งพิงผู้เป็นแม่ ด้วยเพราะแม่ตามใจมากกว่า และต่อมาคนไข้ก็ได้ใช้อาการร้องไห้ของตนเองเป็นการระบายออกของปัญหาในใจ คุณแม่จึงไปโรงเรียนและบอกอาการกับครูที่โรงเรียนว่าเด็กมีปัญหาในครอบครัว และมีอาการซึมเศร้า ชอบร้องไห้ ดังนั้นเมื่อคนไข้ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ ที่โรงเรียน ก็มักจะหาทางออกโดยการร้องไห้ เป็นข้อแม้ในการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการจะทำ และในที่สุดแม่ของคนไข้ก็ถึงกับตามใจให้ลูกหยุดเรียนเป็นเดือนๆ


“ส่วนพฤติกรรมติดเกมของคนไข้นั้นเป็นหนักถึงขนาดที่ว่า ไม่ทำอะไรเลย เล่นเกมอย่างเดียว ไปโรงเรียนก็เอาแต่หลับ ปลุกไม่ตื่น เพราะกลางคืนเล่นเกม พ่อห้ามก็แอบเล่น พ่อด่าว่าหรือตีเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผล”


นพ.อาทิตย์เปิดเผยพฤติกรรมการติดเกมจนก้าวร้าวของคนไข้รายนี้ว่า ถึงขนาดที่ เคยมีกรณีที่พ่อของคนไข้ห้ามคนไข้รายนี้เล่นเกม คนไข้จึงตอบโต้ด้วยการทุ่มคอมพิวเตอร์ทะลุหน้าต่างบ้านออกมาเลยทีเดียว


“คนไข้เข้ารับการรักษาอาการติดเกมเพราะถูกผู้ปกครองนำมารักษา ตอนแรกรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเป็นคนไข้ใน พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหนึ่งเดือน แต่แม่ของคนไข้แอบไปพาออกมา จากนั้นก็กลับไปเป็นคนไข้นอกที่โรงพยาบาลศิริราช และทางโรงพยาบาลศิริราชก็ได้ส่งต่อมายังสถาบันฯ” นพ.อาทิตย์กล่าว


ด้าน นพ.อังกูรได้เผยผลการสังเกตอาการผู้ป่วยว่า ในความเป็นจริงแล้วอาการติดเกมของคนไข้กรณีตัวอย่างนี้ น่าจะมาจากการที่ไม่อยากทำอะไรและไม่มีอะไรจะทำมากกว่า เพราะจากการสังเกตพบว่าแม้กระทั่งแนวทางการบำบัดรักษาอาการติดเกมของพ่อและแม่เองก็ยังสวนทางกัน


“คือคุณพ่อคนไข้เข้มงวดมาก ในขณะที่แม่คนไข้ก็ตามใจคนไข้มากเช่นกัน ทำให้พ่อแม่ทะเลาะกันเอง พ่อก็โทษว่าเป็นเพราะแม่ตามใจลูกก็เลยเสียคนกลายเป็นเด็กติดเกม แล้วก็ทำให้มีปากเสียงทะเลาะและลงไม้ลงมือกัน


สำหรับคนไข้นั้นเราสังเกตว่าคนไข้ชอบที่จะใช้ชีวิตอยู่บนเก้าอี้ล้อเลื่อน มีความสุขอยู่กับการนั่งอยู่บนนั้นและใช้เท้าถีบให้เก้าอี้เลื่อนไปเลื่อนมา เช่นตื่นนอนก็จะลุกจากเตียง นั่งเก้าอี้ เลื่อนไปมา แล้วก็ถีบตัวเองไปเอาข้าวหน้าห้องที่พี่เลี้ยงเอามาให้ กินข้าวบนเก้าอี้ หันซ้ายหันขวาไม่รู้จะทำอะไรก็เปิดคอมพิวเตอร์เล่นเกม คือไม่ใช่ชอบเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่รู้จะทำอะไรก็เลยเล่นเกม รู้สึกว่าดีกว่าจะทำอย่างอื่น”


นพ.อังกูรเผยถึงอุปสรรคตอนแรกของการบำบัดรักษาว่า ความเห็นที่เห็นไปคนละทางของพ่อและแม่ของคนไข้ก็มีส่วนอยู่เหมือนกัน และซ้ำยังมีการทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดเวลา รวมกับการโทษว่าอีกฝ่ายเป็นต้นเหตุของปัญหา


“อย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงประการแรกเมื่อเกิดปัญหาสมาชิกในบ้านติดเกมแบบนี้ก็คืออย่าโทษกันว่า แต่ควรจะหันหน้าหากันปรึกษากันเพื่อหาทางแก้ไขจะดีที่สุด หากมัวแต่โทษกัน ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และก็จะเกิดปัญหาครอบครัวตามมาอีกด้วย”


“แต่อย่างไรก็ตาม จากการบำบัดรักษาคนไข้รายนี้มาตั้งแต่เดือนมีนาคมจนขณะนี้ อาการคนไข้ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว” นพ.อาทิตย์ให้ข้อมูล


ด้าน นพ.อังกูรยังได้เสนอผลการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดเกมต่อไปอีกว่า เกมที่ได้รับความนิยมจากบรรดาเกมเมอร์และที่ผู้ที่มีปัญหาติดเกมนิยมเล่นมากได้แก่ ปังย่า,แร๊กนาร็อก,มิว และวอร์คราฟต์ เป็นต้น และที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในชุมชนที่มีประชาชนอยู่กันหนาแน่นอย่างกรุงเทพมหานครนั้น มีบ้านกว่า59.8% ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีร้านเกมคาเฟ่ 2 ร้านอยู่ใกล้ๆ ที่สามารถเดินมาใช้บริการได้โดยง่าย และมี 5แห่งที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง


“และการข้อมูลการสำรวจจาก NECTEC ปรากฏว่า เด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปกับการเล่นเกม”


นพ.อังกูรกล่าวต่อไปอีกว่า ผลเสียจากการเล่นเกมนั้น มีมากชนิดที่พ่อแม่บางคนนึกไม่ถึง กล่าวคือการติดเกมจะก่อให้เกิดภาวะความเสื่อมของสุขภาพ ตาเสียจากการเพ่งจอ กระดูกข้อ กล้ามเนื้ออักเสบจากการนั่งท่าเดียวเป็นเวลานานๆ ข้อติด มีอาการปวดคอ หลัง ไหล่ ก้นกบ และนอกจากจะทำให้สุขภาพกายแย่ลงไปแล้ว การติดเกมยังทำให้สุขภาพจิตใจเสื่อมลงไปด้วย เพราะการติดเกมจะทำให้อารมณ์ก้าวร้าว


“การติดเกมกับการติดยาเสพติดคล้ายกัน เพราะเกมสมัยนี้เป็นเกมที่มี Level คือมีด่านที่มีความยากมากขึ้น เหมือนกับการติดยาเสพติดที่ผู้ติดก็ต้องการปริมาณยาที่มากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าการติดเกมกับติดยานั้นไม่หนีห่างจากกันเท่าไหร่ เพราะเท่าที่พบนั้นส่วนใหญ่คนพวกนี้จะมีครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ขาดการเอาใจใส่ ขาดวินัย หรือมีการตามใจจนเกินเหตุ ส่วนเด็กที่ติดเกมนั้นส่วนใหญ่ก็เพราะมาจากการขาดการยอมรับ การรู้สึกว่าไม่มีตัวตนในครอบครัวหรือในสังคมและเป็นคนไร้ค่า แต่เด็กเหล่านี้รู้ว่าถ้าเล่นเกมเก่งแล้วจะกลายเป็นฮีโร่ในโลกไซเบอร์ สังคมเสมือนจริง จนกลายเป็นคนที่ได้รับการยอมรับในสังคมออนไลน์ที่มีลักษณะเป็นการเสพติดการเล่นและการยอมรับแบบนี้ไป”


สุดท้ายคุณหมอท่านนี้ได้แนะนำวิธีการป้องกันและแก้ไขกรณีเด็กติดเกมแบบง่ายๆ ก็คือ ควรจะให้การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของลูกอยู่ในสายตาพ่อแม่ เช่นเอาคอมพิวเตอร์ไว้กลางบ้าน ที่ที่สามารถสอดส่องพฤติกรรมลูกได้ เมื่อเห็นอะไรไม่ถูกไม่ควรก็ตักเตือนแต่อย่าดุด่าว่ากล่าวหรือใช้ความรุนแรง และถ้าหากลูกมีนิสัยชอบเล่นเกมก็ควรจะดูแลเนื้อหาของเกมไม่ให้ก้าวร้าวรุนแรงจนเกินไป และควรมีข้อตกลงระหว่างกันในครอบครัวว่าควรจะเล่นในปริมาณมากน้อยแค่ไหน กำหนดชั่วโมงที่สามารถเล่นได้โดยไม่เสียการเรียนและไม่เสียสุขภาพ พยายามเอาใจใส่และให้เวลาซึ่งกันและกันในครอบครัว


แต่ถ้าหากเกิดปัญหาการติดเกมขึ้นในครอบครัวแล้ว ก็ควรจะขอรับคำแนะนำและหาทางแก้ไขจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และพยายามแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ