05 กรกฎาคม 2550

 

ผอ.รร.แฉร้านเกมตัวแสบหนุนเด็กหนีเรียน


โพสต์ทูเดย์ — ผอ.สตรีวิทยา 2 แฉร้านเน็ตหนุนเด็กหนีเรียน สำรวจ 11 โรงเรียนมี 12 ปัจจัยเสี่ยง

นายเชิดชัย พลานุวัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา 2 กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่รอบโรงเรียนแวดล้อมไปด้วยพื้นที่เสี่ยงสำหรับนักเรียน โดยเฉพาะปัญหาร้านเกม-อินเทอร์เน็ต ที่มาเปิดบริการเป็นจำนวนมาก


“บางร้านสนับสนุนให้เด็กหนีเรียนไปเล่นเกมอยู่ที่ร้าน เช่น เมื่อเด็กเข้ามาในร้าน ก็จะนำรองเท้านักเรียนไปซ่อนไว้ หรือมีเสื้อผ้าไว้บริการให้เด็กเปลี่ยนแทนชุดนักเรียน” นายเชิดชัย กล่าว


ทั้งนี้ นายเชิดชัย กล่าวระหว่าง การสัมมนาปฏิบัติการพื้นที่สีขาว รอบโรงเรียน จัดโดยมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว


ขณะที่นายธนากร คมกฤส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ได้สำรวจความเห็นนักเรียน และ ผู้ปกครอง 456 คน แบ่งเป็นนักเรียน 71.27% และผู้ปกครอง 28.73% จากโรงเรียนในพื้นที่ กทม. 11 แห่ง


อาทิ โรงเรียนเทพศิรินทร์ สายน้ำผึ้ง พระหฤทัยคอนแวนต์ สาธิตรามคำแหง พบว่า นักเรียน และผู้ปกครอง ระบุตรงกันทั้ง 11 โรงเรียนว่า มีพื้นที่เสี่ยงต่อเด็ก 12 ด้าน


เช่น ร้านเกม-อินเทอร์เน็ต ร้านจำหน่ายสุรา-บุหรี่ ผับ บาร์ คาราโอเกะ


ค่าเฉลี่ยระดับความเสี่ยงของพื้นที่รอบโรงเรียนยังอยู่ในระดับสีเทา ซึ่ง นับว่ายังไม่ถึงขั้นวิกฤต ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในแง่ความไม่ปลอดภัยแก่เด็ก แต่หากยังปล่อยให้พื้นที่เสี่ยงดังกล่าวยังคงมีอยู่ต่อไป อาจส่งผลให้ระดับความเสี่ยงพัฒนาไปเป็นสีดำ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อเด็กในที่สุด


ด้านนายกิตตินัย กมลศิริศิลป์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนกุนนทีรุทธาราม วิทยาคม กทม. กล่าวว่า ร้านเกมอยู่ใกล้โรงเรียน เป็นปัจจัยทำให้เด็กติดเกม เนื่องจากเลิกเรียนแล้วแวะเล่นได้ง่าย


“ที่ผ่านมาเคยติดเกมจนต้องเล่นหลังเลิกเรียนทุกวัน ไม่ต่ำกว่า 6 ชม.จึงจะกลับบ้าน” นักเรียน ม.6 กล่าว


ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

 

เตือนพ่อแม่ระวัง โจ๋ไทย "ติดเซ็กส์" โทรศัพท์ -เน็ตฯ ตัวอันตราย!!


โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 5 กรกฎาคม 2550 07:59 น.





เทคโนโลยีทำสังคมไทยป่วน วัยรุ่นไทยเลือกใช้"โทรศัพท์ - อินเทอร์เน็ต"เป็นช่องทางติดต่อเพศตรงข้าม มูลนิธิกระจกเงาชี้สถิติเด็กสาวหายตัว 2 ปี กว่า 200 คน ขณะที่บางส่วนถูกตามตัวกลับบ้านแต่กลายเป็นเด็กมีพฤติกรรม "ติดเซ็กส์" แทน ด้านจิตแพทย์ระบุ "เซ็กส์โฟน - แชทไลน์"ไม่ใช่โรคจิต

ข่าวการทลายเข้าไปจับกุมสาวๆที่ทำหน้าที่ "บำบัดความใคร่"ให้กับสมาชิกผ่านเครื่องรับโทรศัพท์ หรือที่รู้จักกันว่า "เซ็กส์โฟน"เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานั้นถือเป็นการเปิดมุมมืดของสังคมให้ผู้คนทั่วประเทศได้รับรู้อีกมุมหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว "มุมมืด"ในสังคมที่ยังไม่มีการทลายยังมีอีกมากมาย

เจาะกลุ่ม แชทไลน์ 1900

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตาม สืบเสาะการหายตัวของกลุ่มวัยรุ่นหญิง บอกกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"ว่าจากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีเด็กผู้หญิงวัยรุ่นหายตัวไปจากบ้านมากกว่า 200 รายโดยเยาวชนส่วนใหญ่ที่หายตัวไปนั้นมีอายุเฉลี่ยประมาณ 15 - 18 ปี ในจำนวนนี้หายตัวไปหลังจากการเข้าไปใช้บริการออดิโอเท็กซ์ประเภทแชทไลน์ (1900) ด้วยบางส่วน

"เดิมนั้นเราไม่ได้สืบเสาะหาสาเหตุของการหายตัวไปของเด็กแต่หลังจากที่มีสถิติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทำให้เราต้องหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อจะได้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างชัดเจน ซึ่งจากการที่เราเข้าไปสืบหาข้อมูลพบว่าเด็กที่หายตัวไปส่วนใหญ่จะใช้ "แชทไลน์"ก่อนทั้งสิ้น"

หลังจากที่หาสาเหตุพบทำให้มูลนิธิกระจกเงาเริ่มลงลึกถึงปัญหาจนทำให้รู้แน่ชัดว่าเด็กสาวที่หายตัวออกไปจากบ้านนั้นมีการติดต่อกับ "บุคคลแปลกหน้า"โดยผ่านช่องทาง "แชทไลน์" จึงได้มีการติดตามสืบเสาะเด็กที่หายตัวไปจนในที่สุดก็ตามตัวพบ

เอกรัตน์บอกว่า เด็กที่หายตัวไปนั้นส่วนใหญ่จะมีครอบครัวที่ไม่อบอุ่นพ่อแม่แยกทางกันหรือแม้แต่พ่อแม่ทำงานจนไม่มีเวลาให้กับลูก เด็กจึงขาดความอบอุ่นและต้องการ "คนที่เข้าใจ"จึงหาทางออกโดยการเข้าไปพบปะพูดคุยกับคนแปลกหน้าและเด็กก็เลือกช่องทาง "แชทไลน์ 1900"ซึ่งมีโฆษณามากมายผ่านหนังสือ นิตยสาร ฯลฯ

โดยกลุ่มเด็กหญิงที่เข้าไปใช้บริการแชตไลน์นั้นมีฐานะระดับปานกลางขึ้นไป น่าตกใจบางรายเป็นลูกคนใหญ่คนโตที่เป็นที่รู้จักในบ้านเมือง ลูกนายทหาร ลูกข้าราชการ นักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย ฐานะทางบ้านดี เรียนเก่ง ไม่น่าใช้บริการหาเพื่อนคลายเหงา หรืออยากมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เด็กสาวบางรายหลอกขอเงินพ่อแม่โอนมาให้ผู้ชายที่รู้จักทางแชตไลน์เป็นเงิน 1 หมื่นบาท โดยพื้นที่ที่มีเบอร์โทรศัพท์เข้าไปใช้บริการแชตไลน์มากที่สุด ได้แก่ ย่านเขตธนบุรี บางแค

"เด็กๆที่เข้าไปใช้บริการจะใช้ช่องทางแชทไลน์ติดต่อกันไม่กี่วันจากนั้นจะให้เบอร์โทรศัพท์มือถือกันพูดคุยกันสร้างความสนิทสนมไม่เกินหนึ่งวันก็จะนัดเจอตัวกันโดยมีจุดนัดพบหลายแห่งซึ่งที่นิยมที่สุดก็จะเป็นห้างสรรพสินค้าต่างๆ"

ผู้ที่เข้าไปใช้บริการแชทไลน์นั้น จะมี 2 กลุ่มคือกลุ่มเด็กวัยรุ่นซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้หญิง และกลุ่มผู้ชายซึ่งมีความประสงค์เดียวคือ "เข้ามาหาเด็ก"เพราะเท่าที่มีการตรวจสอบพบว่าผู้ชายที่เข้ามาใช้บริษัทนี้จะมีอายุเฉลี่ย 23-30 ปี ที่สำคัญผู้ชายกลุ่มนี้ส่วนมากจะมีงานทำและมีเงินพอที่จะเป็น "เจ้ามือ"ทั้งเลี้ยงข้าว ดูหนัง ฟังเพลงและสุดท้ายคือจ่ายค่าโรงแรม

เอกรัตน์บอกว่า จากการที่เราติดตามตัวเด็กกลับมาและได้สอบถามถึงสาเหตุเด็กจะบอกว่าเหงา ต้องการคนเข้าใจ ซึ่งกลุ่มเพื่อนๆที่แชทไลน์นั้นคือสิ่งที่เด็กๆพวกนี้ตามหาเพราะคนพวกนี้จะสามารถรับฟังปัญหาต่างๆและมีวิธีการที่จะชักจูงให้เด็กๆโอนอ่อนผ่อนตามได้โดยง่าย
"ที่น่าตกใจมีเด็กรายหนึ่งหายออกจากบ้านไปกับคนแปลกหน้าที่รู้จักทางโทรศัพท์ 1900 ถึง 8 ครั้ง และไม่ซ้ำหน้ากันทั้ง 8 ครั้ง แสดงถึงครอบครัวขาดความอบอุ่น พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก ให้เงินเลี้ยงดูลูก"

เอกรัตน์อธิบายอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงและควรจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบคือเด็กๆที่ทางเราร่วมกับตำรวจ ปดส.ตามตัวกลับมาแล้วส่งกลับบ้านทุกคนจะกลับเข้าสู่วงจรเดิมๆอีกเพราะตัวเด็กเองนั้นได้กลายเป็นคน "ติดเซ็กส์"ไปเสียแล้วคือคิดว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้นคือความสุขซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก

"เด็กผู้หญิงที่เราติดตามตัวกลับมาได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์กลายเป็นเด็กติดเซ็กส์ มองเรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องปกติทั้งๆที่เด็กพวกนี้มีอายุแค่ 14-18 ปีเท่านั้นที่สำคัญเด็กพวกนี้ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายคนเดียวเท่านั้นแต่มีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามแต่เขาจะติดต่อกลุ่มไหนได้ บางครั้งเมื่อเราติดตามไปถึงแหล่งมั่วสุมซึ่งส่วนใหญ่ก็คือบ้านของผู้ชายจะพบเด็กวัยรุ่นชายหญิงเป็นกลุ่มๆรวมกันอยู่ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มเพื่อนที่พบกันในแชทไลน์นั่นเอง"

ปัญหาดังกล่าวนี้แม้จะมีการพูดคุยกันมานานแต่กลับไม่มีการปฏิบัติกันอย่างจริงจังทำให้ปัญหาต่างๆดังกล่าวนี้ยังคมอยู่ต่อไป ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาได้เสนอมาตรการในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยดารเสนอมาตรการ 5 ข้อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.มีมาตรการตรวจสอบ และติดตามมีการปฏิบัติตามสัญญาจริง

2.ลงทะเบียนก่อนเข้าใช้บริการแชตไลน์ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าใช้บริการ เช่น ตรวจสอบเลขที่บัตรประชาชน

3.มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยสุ่มฟังสนทนา เพื่อไม่ให้ใช้ถ้อยคำที่ส่อไปทางลามกอนาจาร ถ้าพบใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมตัดสิทธิใช้บริการทันที

4.ระวังข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมในการโฆษณาเชิญชวนใช้บริการแชตไลน์ตามเว็บไซต์ สื่อโฆษณาอื่นๆ

และ 5.มีมาตรการลงโทษผู้ประกอบการตามกฎหมาย ถ้าพบว่าไม่ทำตามสัญญา

"มาจนถึงปัจจุบันนี้มาตรการแก้ไขปัญหาที่เราเสนอไปนั้นยังไม่มีการนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังทำให้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ ผมเชื่อว่าคนในสังคมไม่น้อยที่คิดว่าเรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้านำเรื่องเซ็กส์มาผู้ติดกับธุรกิจ เซ็กส์กลายเป็นสินค้าแล้วสังคมไทยเราจะดำรงอยู่ได้อย่างไร"เอกรัตน์กล่าว

แชท ออนไลน์ก้าวไกลสู่อินเตอร์

ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยในยุคนี้ การเข้าไปเล่นแชทไลน์อาจจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา แต่เพราะเทคโนโลยีดิจิตอลนี่เองที่ได้นำเอา "ช่องทาง"การติดต่อกับคนแปลกหน้าเข้ามามากมายหลายช่องทางโดยผ่านโปรแกรมสนทนาต่างๆเริ่มจากยุคแรกๆคือเพิร์ซ ไอซีคิว รวมถึงห้องแชตรูมของเว็บไซต์ต่างๆ และปัจจุบันโปรแกรม MSN กำลังได้รับความนิยมจากบรรดา "นักแชต"จากทั่วโลก

การใช้สื่อออนไลน์ในการพูดคุยกับคนแปลกหน้าในปัจจุบันนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกรณีที่มี "จิ้งจอกสังคม"ใช้คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงหญิงสาวไปข่มขืนและชิงทรัพย์ ซึ่งปรากฎเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยข้อมูลการวิจัยที่ศึกษามานานกว่า 10 ปี ระบุว่า สังคมไทยมีโอกาสเสียอนาคต เพราะเยาวชนในอัตรา 2 ใน 5 มีปัญหาหลงใหลวัตถุนิยม สื่อลามก ภัยทางเพศ เกมคอมพิวเตอร์ มีปัญหาความรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากไทยมีโครงสร้างเป็นสังคมเปิด เกิดการหลั่งไหลทางวัฒนธรรม ในขณะที่สภาพสังคมและครอบครัวอ่อนแอ จึงตั้งรับไม่ทัน
นอกจากนี้ ยังเกิดจากการแข่งขันในสังคม โดยผู้ปกครองร้อยละ 70-80 เน้นให้บุตรเรียนเก่ง จึงส่งไปเรียนพิเศษ และเมื่อเวลาว่าง เด็กนิยมเล่นเกมคอมพิวเตอร์ จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหานี้ และขอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญลงโทษผู้ที่ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง หลังจากที่ปัจจุบันพบว่าเจ้าหน้าที่หละหลวมในการเอาผิดในคดีเด็ก เยาวชน

"จากสถิติพบว่า ปัจจุบันเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ต มีเพียงร้อยละ 20 ที่ใช้เพื่อหาวิชาความรู้ แต่ร้อยละ 80 ใช้ทำอย่างอื่น และร้านเกม ยังเป็นแหล่งมั่วสุม เกิดปัญหาเด็กเร่ร่อน เด็กหลายรายไม่ยอมกลับบ้าน กลายเป็นเด็กเร่รอนเทียม เป็นจำนวนมาก"

รศ.ดร.สมพงษ์ระบุอีกว่า โลกดิจิตอลนี้สามารถติดต่อกันได้ทั่วโลกดังนั้นคนที่เข้าไปสู่โลกอินเทอร์เน็ตจึงมีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้นซึ่งสิ่งที่แฝงมานี้ก็มีอันตรายเพิ่มมากขึ้นด้วยดังนั้นเรื่องนี้ทุกฝ่ายควรจะหันมาให้ความสนใจและร่วมมือร่วมใจกันหาทางป้องกันกันอย่างจริงจังเสียที

จิตแพทย์ชี้ "เซ็กกส์โฟน"ไม่ใช่โรคจิต

ในเรื่องเดียวกันนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความเห็นว่าในการเข้าไปใช้แชทไลน์โดยเฉพาะในส่วนของเซ็กส์โฟนนั้น ในเชิงจิตวิทยาจะจำแนกกลุ่มผู้ใช้บริการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่โทร.ไปรับบริการจากหน่วยที่ให้บริการ โดยไม่ได้มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งจัดเป็นกลุ่มคนที่ต้องการได้รับสิ่งเร้าให้เกิดความต้องการทางเพศทางเสียง เหมือนกับสิ่งเร้ารูปแบบอื่นๆ ทั้งภาพอย่างรูปโป๊ ภาพเคลื่อนไหววีดีโอคลิป การสัมผัส และกลิ่น ที่ช่วยให้เกิดการเร้าอารมณ์จนถึงจุดสุดยอด โดยเพศชายจะถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ง่ายจากสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติ

ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่โทรศัพท์ไปเซ็กซ์โฟนกับบุคคลที่ไม่รู้จัก หรือโทร.สุ่มมั่ว จะเข้าข่ายมีปัญหาทางสุขภาพจิต เป็นกลุ่มมีความผิดปกติทางเพศ เรียกว่า กลุ่มโรคพาลาฟิลเลีย (Paraphilias) หรือ กามวิปริต เช่นเดียวกับบุคคลที่ชอบถ้ำมอง ถูไถ ขโมยกางเกงใน และพวกชอบความรุนแรงทางเพศ หรือซาดิสต์ คนกลุ่มนี้ใช้กิจกรรมอื่นทดแทนการมีเพศสัมพันธ์ในช่องทางปกติ เช่น การมีเซ็กซ์กับภรรยา ซึ่งกลุ่มนี้อาจเป็นส่วนน้อยที่โทรศัพท์ใช้บริการแต่กลับชอบเซ็กซ์โฟนแบบสุ่มมั่ว เพราะได้รับความตื่นเต้น เร้าใจ และลุ้นปฏิกิริยาของผู้ที่รับโทรศัพท์ เพราะไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นของฝ่ายตรงข้าม สำหรับผู้ให้บริการ หากทำเป็นอาชีพ ตามบทบาทหน้าที่ เป็นเพียงการแสดงอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทน ไม่มีอารมณ์ร่วม ไม่จัดว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต

"ที่น่ากลัว คือ เยาวชน ที่เริ่มมีความสนใจเรื่องเพศ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จะสนุกสนาน กับการพูดคุยเรื่องเพศผ่านทางโทรศัพท์ อาจทำให้เยาวชนติดการพูดคุยในเรื่องนี้ผ่านโทรศัพท์ จนต้องการรู้ในเพศตรงข้ามที่ตนไม่เคยรู้ จนเกิดอารมณ์ร่วมหลังและติดในเรื่องเพศ"

สำหรับการให้บริการเซ็กซ์โฟนในต่างประเทศมีการเปิดให้บริการอย่างโจ่งแจ้ง เป็นอาชีพที่สร้างกำไรอย่างมาก เพื่อใช้เป็นทางออกให้กับคนที่มีปัญหาทางเพศ เนื่องจากเชื่อมั่นว่าคนในประเทศมีวุฒิภาวะมากพอในการที่จะแยกแยะ สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่เหมาะสมที่จะเปิดเสรีเช่นนั้น ด้วยเพราะเยาวชนไทยมีวุฒิภาวะด้านอารมณ์เพศไม่ดี รวมทั้งในการใช้โทรศัพท์ยังไม่สามารถจำแนกแยกแยะผู้ใช้โทรศัพท์ได้